วันที่ 27 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด แต่ปกปิดข้อมูลไทม์ไลน์ ว่า การปกปิดข้อมูลถือว่าผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่จะต้องได้ความที่ชัดเจนก่อนว่าจงใจหรือไม่ เพราะถ้าเพียงแค่ลืมก็มาช่วยไม่ได้ ไม่เป็นความผิดเพราะไม่เจตนา
หากเปรียบเทียบกับตนเองก็ลืมได้เหมือนกันว่า ในแต่ละวัน ช่วงเวลานั้นเวลานี้ได้พบเจอกับใครบ้าง หรือแม้ว่าอาจจะพบปะกับผู้คน แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใครบ้าง คงไม่รู้จักชื่อ และไม่สามารถให้เจ้าหน้าเรียกมาตรวจได้ ดังนั้นต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก
นายวิษณุ กล่าวว่า หากในไทม์ไลน์ที่เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรคระบุว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูลก็สามารถระบุได้ แต่ถือเป็นการกล่าวหาให้กลัวไว้ก่อน แต่เมื่อถึงเวลาจะเอาถึงขั้นผิดฟ้องร้องกันจริง ก็ต้องมีหลักฐาน เพราะการไม่ให้ข้อมูลจะต้องมีหลักฐาน แม้บางครั้งไม่ให้ข้อมูลก็จริง แต่เป็นเพราะลืม
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องลงไว้ว่าไม่ให้ข้อมูล แต่ถ้าจะไปฟ้องร้องโดยระบุว่าไม่ให้ข้อมูลนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะไปฟ้องต้องเป็นการไม่ให้ข้อมูลหรือปกปิด และต้องให้โจทก์พิสูจน์ให้ได้
“ดังนั้นที่สุดแล้วต้องอยู่ที่เจตนาเป็นหลัก อย่างเช่น บางคนไปสถานบันเทิง อาบอบนวด แล้วติดโควิด-19 มาก็บอกไทม์ไลน์ทั้งหมด แต่ไม่กล้าบอกว่าไปที่สถานนั้นมา ซึ่งการไม่บอกนั้นเพราะอาจจะกลัวเมียรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้สืบเจตนาได้ง่าย อีกตัวอย่างหนึ่งคือต้องการทำลายคู่แข่งของสถานบันเทิงนั้น ก็สามารถเอ่ยชื่อร้านคู่แข่งนั้นได้อย่างนั้นถือว่าผิด เพราะมีเจตนา
นายวิษณุ กล่าวว่า การไม่อยากให้ข้อมูลไทม์ไลน์ต่อเจ้าหน้าที่นั้นทำไม่ได้ ซึ่งเขาคงคิดว่าถ้าให้แล้วอาจผิด จึงคิดว่าไม่ให้เสียเลยก็อาจจะไม่ผิด ส่วนกรณีที่มีผู้ป่วยบางรายมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องโดนด้วยทั้งนั้น ส่วนที่สื่อถามว่าจะมีความผิดทางวินัยอีกกระทงหนึ่งหรือไม่ เอาไว้เป็นเรื่องในอนาคต เพราะการเอาผิดทางวินัยส่วนใหญ่จะอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ หากไม่ใช่หน้าที่ก็ไม่ใช่วินัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 27 ม.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด
ยอดติดเชื้อโควิด 27 ม.ค.64 รายใหม่ 819 ในประเทศ 808 เสียชีวิต 1 คน
เปิดไทม์ไลน์ นักร้องชายติดโควิด โยงดีเจมะตูม ระบุ “ไม่ให้ข้อมูล”
กทม.มึน เปิดไทม์ไลน์ 15 รายติดเชื้อโควิด พบ 4 ราย“ไม่ให้ข้อมูล”
เปิดไทม์ไลน์ ชายวัย 56 ปี เสียชีวิตจากโควิด-19