โควิด-19 กลายพันธุ์ "หมอยง" ห่วงสายพันธุ์ใหม่มีการหลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีน

03 ก.พ. 2564 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2564 | 01:48 น.

โควิด-19 กลายพันธุ์ "หมอยง" ห่วงสายพันธุ์ใหม่มีการหลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีน ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) ภายใต้หัวข้อ “โควิด 19 การกลายพันธุ์

              ไวรัสโควิด-19 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส จึงมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมตามกาลเวลา  การกลายพันธุ์ของไวรัส covid-19 จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไวรัสที่เริ่มต้นจากจีน และไปแพร่ระบาดอย่างมากในยุโรป และ อเมริกา สายพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด

              สายพันธุ์ใหม่ที่ทุกคนเฝ้าระวังเป็น สายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า B.1.1.7 หรือเรียกว่า VOC 202012/01 คือ Variant of Concern ประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ธันวาคม (12) ปี 2020

หมอยง

              สายพันธุ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่สำคัญในตำแหน่ง 501 เปลี่ยนจาก asparagine ไปเป็น tyrosine หรือที่เรียกว่า N501Y ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่จะเกาะติดกับตัวรับของเซลล์ ACE2 ทำให้ไวรัสเกาะเซลล์ได้ง่ายขึ้น เป็นเหตุให้การติดเชื้อได้ง่าย และแพร่กระจายได้ง่าย แต่ไม่เกี่ยวกับความรุนแรงของโรคและระบบภูมิต้านทาน

              ต่อมามีการกลายพันธุ์ที่มากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ สายพันธุ์คล้ายสายพันธุ์อังกฤษแต่มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นในตำแหน่งกรดอะมิโน บนสไปรท์โปรตีน ที่ 484 โดยเปลี่ยนจาก glutamic ไม่เป็น lysine หรือ E484K ที่เรียกว่า B.1.351 or 501Y.V2 ในตำแหน่งที่ 484 จะเกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน ที่อาจจะมีผลทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับสายพันธุ์นี้

สายพันธุ์บราซิลได้พบการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิค 19 บริเวณ Amazon ประเทศบราซิล โดยมีการกลายพันธุ์เพิ่มจากสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ ในตำแหน่งที่ 417 เพิ่ม (K417N / E484K / N501Y) หรือเรียกง่ายๆว่า P.1 จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าสายพันธุ์นี้จะมีผลต่อระบบภูมิต้านทานมากน้อยแค่ไหนเพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน เพิ่มอีก 1 ตำแหน่งในตำแหน่งที่ 417

              ความจำเป็นในการศึกษารหัสพันธุกรรมเพื่อติดตามการเฝ้าระวัง และเปรียบเทียบกับทางด้านระบาดวิทยา รวมทั้งระบบภูมิต้านทาน และความรุนแรงของโรค มีความจำเป็นอย่างยิ่งและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่จะหลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีน และจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

              สำหรับในประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะจากยุโรปหรืออเมริกา  ขณะนี้ทางศูนย์ที่ผมทำงาน เฝ้าติดตามการกลายพันธุ์โดยการตรวจสายพันธุ์ที่อยู่ใน state quarantine พบสายพันธุ์อังกฤษแล้วถึง 7 ราย

              ใน 7 รายนี้ 5 รายมาจากประเทศอังกฤษ 1 รายมาจากอเมริกา และอีก 1 รายมาจากฝรั่งเศส สายพันธุ์ต่างประเทศที่เกิดขึ้น จะต้องคอยเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการระบาดในบ้านเรา โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และจะต้องมีการสุ่มตรวจสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเองด้วย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือเชื้อที่ดื้อต่อวัคซีนเกิดขึ้นในประเทศไทย

              ความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะทำให้เข้าใจ ในบทความที่เขียนมานี้

              #หมอยง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"หมอยง" ชี้ไทยมี "พลาสมา" เพียงพอรักษาโควิด-19 ระลอกใหม่

“หมอยง” ไขข้อสงสัย "วัคซีนโควิด-19" แต่ละชนิด

"สมุทรสาคร'​ ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก 777 ราย

ซาอุฯสกัดโควิด สั่งแบน 20 ชาติเดินทางเข้าประเทศ

ใกล้พื้นที่เสี่ยง"โควิด" กทม.ประกาศปิดโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน