นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุแอฟริกา (South African Variant) รายเเรกของไทยในผู้เดินทางกลับมาจากประเทศเเทนซาเนีย เป็นชายไทยอายุ 41 ปี หลังทำการรับซื้อพลอยในแทนซาเนียนาน 2 เดือน โดยระหว่างที่อยู่ในแทนซาเนียนั้นได้ก็เข้าร่วมงานเลี้ยงซึ่งผู้เข้าร่วมงานไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย สำหรับผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัว เป็นหืด ความดันโลหิตสูง และน้ำหนักเกิน (BMI 31)
ไทม์ไลน์ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา มีดังนี้
29 ม.ค.2564
เดินทางจากแทนซาเนียต่อเครื่องที่เอธิโอเปียถึงไทย คัดกรองอาการป่วย ณ ด่านควบคุมโรค ระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีไข้และอาการป่วย เดินทางไปกักตัวใน State Quarantine
3 ก.พ. 2564
เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งที่ 1 พบผลเป็นบวก
4 ก.พ. 2564
ส่งตัวไปรับการรักษา ณ โรงพยาบาลของรัฐ โดยผู้ป่วยให้ประวัติว่ามีไข้ต่ำๆ ไอ รับไว้รักษาในห้องแยก
5 ก.พ. 2564
ทีมสอบสวนโรคส่งตัวอย่างตรวจระบุสายพันธุ์ของโควิด-19 เนื่องจากผู้เดินทางมาจากแอฟริกา เพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ณ ศูนย์วิทยศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย (EID-TRC)
12 ก.พ. 2564
ผลการตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 (Whole Genome Sequencing)โดยศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย (EID-TRC) พบเป็น South African Variant (98.64% coverage)
13 ก.พ.2564
ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่และกรมควบคุมโรค ลงประเมินการสัมผัสผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ ณ State Quarantine และโรงพยาบาล พบว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจกรรมอย่างรัดกุม ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ PCR ในเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ใน State Quarantine รวม 41 ราย (โรงพยาบาล 31 ราย State Quarantine 10 ราย) ให้ผลเป็นลบทั้งหมด
ทั้งนี้ แนวทางการคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ South African Variant ได้ปรับให้มีความไวมากขึ้น เช่น การเก็บตัวย่างทันทีที่ถึงประเทศไทย คัดกรองผู้ที่มีอาการและประวัติเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลทันที รวมทั้งมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ที่ทันเวลาก่อนที่ผู้เดินทางจะออกจากโรงพยาบาล
นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อโควิด-19 South African Variant เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ หากติดตามมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ขณะนั้นที่คนทั่วไปเข้าใจ เรียกว่า สายพันธุ์อู่ฮั่น ต่อมามีการกลายพันธุ์ไปต่างๆ ในกลางปีพบสายพันธุ์ G มากที่สุดทั่วโลก ซึ่งพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์เดิมมากพอสมควร
โดยขณะนี้ทั่วโลกจับตาสายพันธุ์แอฟริกาซึ่งประเทศที่มีรายงาน South African Variant ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา แต่ยังไม่ค่อยพบในเอเชีย
สำหรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น มีหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อง่ายขึ้นซึ่งทางกรมควบคุมโรคจับตาอยู่ คือ สายพันธุ์อังกฤษ การทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนน้อยลง เป็นที่มาของข่าวว่า แอฟริกาใต้ระงับการให้วัคซีนบางตัว และการกลายพันธุ์แล้วโรครุนแรงมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานในส่วนนี้
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน เช่น สาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อที่เข้าสู่ประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ G ไม่มีความรุนแรงแต่ติดต่อเชื้อง่าย เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จ๊าก! พบไวรัสโควิดพันธุ์ดุ ‘สายพันธุ์แอฟริกาใต้’ บุกไทย
สธ.เข้มคุมโควิด-19 "ปทุมธานี-ตาก"
ระยองพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 3 ราย พร้อมเปิดไทม์ไลน์จุดเสี่ยง
ไทม์ไลน์"ผู้ติดเชื้อโควิด"กทม.เพิ่ม 16 ราย พบบุคลากรการแพทย์ติด 1 ราย