ก่อนจะไปไกลถึงจุดนั้น ทุกคนควรต้อง “ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง” ว่าเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย หรือไม่เสี่ยงเลย ซึ่งฐานเศรษฐกิจมีคำตอบรวบรวมไว้ตรงนี้ โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ. พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้โพสต์ข้อความบนหน้าเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว นพ.พิเชฐ บัญญัติ ให้ความกระจ่างและตอบทุกคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้
#ไปตรวจแล็บโควิดดีไหม
วันนี้รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,839 ราย น่าจะท้อปออฟเดอะวีค ส่วนใหญ่เป็นติดเชื้อในประเทศตรวจพบจากระบบบริการ 2,523 ราย ส่วนระบบคัดกรองมี 304 รายและติดเชื้อต่างประเทศ 12 ราย
ยอดรวมการระบาดระลอกนี้ ที่กำลังป่วยและรักษาอยู่ที่ 22,327 ราย นอนอยู่ รพ. 17,924 ราย (กลุ่มสีเหลือง) นอน รพ.สนาม (กลุ่มสีเขียว) 4,403 ราย นอนไอซียู (ใส่ท่อหายใจ)หรือกลุ่มสีแดง 113 ราย
หายแล้ว 3,140 ราย เสียชีวิต 8 ราย อัตราติดเชื้อตาย 0.14% พบผู้ป่วยแล้วครบ 77 จังหวัดตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
ผู้เสียชีวิตทั้ง 8 รายล้วนมีโรคประจำตัวทุกคน มี 2 รายไปติดมาจากสถานบันเทิง และอีก 6 รายอยู่บ้านแต่ติดจากคนที่ไปมาหาสู่นำเชื้อมาให้ถึงบ้าน
เมื่อวานก่อนมีคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสช้า เนื่องจากเริ่มมีอาการไปตรวจด้วยวิธีrapid Ag test แล้วให้ผลลบ จึงคิดว่าไม่ใช่โควิด พออาการหนักมาตรวจใหม่ด้วยวิธีมาตรฐานพบว่าติดเชื้อและลงปอดแล้ว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สรุปยอดการตรวจแล็บมาตรฐาน (Realtime RT PCR) จำนวน 61,785 ตัวอย่างจากห้องแล็บ 231 แห่ง (ห้องแล็บมาตรฐานทั้งประเทศ 279 แห่ง รายชื่ออยู่หน้าเว็บ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
หลายคนคงวิตกกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือเปล่า จะไปตรวจดีไหม จะตรวจด้วยอะไรดี คงเกิดคำถามในใจกันมากมาย แนะนำง่ายๆ ยังงี้ครับ
กลุ่มเสี่ยงสูง คนที่พูดคุยใกล้ชิดผู้ป่วยโดยไม่สวมหน้ากากพูดคุยกันใกล้ๆเกิน 5 นาทีหรืออยู่ในสถานที่ปิด (ในห้องหรือที่มีหลังคาคลุม ไม่เปิดโล่ง)ในระยะ 1 เมตรเกิน 15 นาที ให้กักตัวอยู่บ้านแยกห้องแยกของใช้กับคนอื่นๆในบ้าน 14 วันและสังเกตอาการ 3-5 วันไปตรวจแล็บหาเชื้อ
กลุ่มเสี่ยงต่ำ คนที่อยู่ในบริเวณเดียวกับผู้ป่วยแต่สวมหน้ากาก หรือคนที่อยู่ห่างผู้ป่วยเกิน 1 เมตร ท่านไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องตรวจแล็บแต่ควรสังเกตอาการ 14 วัน
กลุ่มไม่เสี่ยง (เสี่ยงต่ำมากๆๆๆ) คนที่อยู่ไกลผู้ป่วยมากๆ อยู่คนละชั้น อยู่คนละห้องทำงานหรือคนละแผนก ท่านไม่ต้องกังวล ดูแลตัวเองตามปกติ เน้นสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง
แล้วถ้าเกิดท่านไป นั่งเครื่องบินลำเดียวกับผู้ติดเชื้อ ล่ะ พิจารณาตามนี้เลยครับ
- ท่านเสี่ยงสูง เมื่อท่านนั่งอยู่สองแถวหน้าหรือสองแถวหลังผู้ติดเชื้อและท่านถอดหน้ากากเกิน 5 นาที เช่น ท่านกินข้าวในเครื่อง น่าจะเกินแน่ๆ ท่านต้องไปตรวจแล็บและกักตัวเอง 14 วัน
-ท่านเสี่ยงต่ำ แม้ท่านจะนั่งอยู่สองแถวหน้าหรือสองแถวหลังของผู้ติดเชื้อแต่ท่านสวมหน้ากากถูกต้องตลอดเวลา ท่านไม่ต้องตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แค่สังเกตอาการ 14 วัน
-ถ้าท่านเป็นแอร์โฮสเตส สจ๊วต ที่สวมหน้ากากตลอดเวลา เดินไปเดินมาตามหน้าที่ ท่านก็เสี่ยงต่ำครับ ไม่ต้องไปตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แค่สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
-ส่วนผู้โดยสารนอกจากนี้ ท่านสวมหน้ากากตลอดเวลา (อาจถอดบ้างไม่เกิน 5 นาที) ท่านไม่ต้องกังวลครับ ไม่ต้องตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แต่ก็ควรสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
กรณีท่าน นั่งรถตู้ รสบัส รถเมล์ รถแท๊กซี่ หรือรถยนต์ส่วนตัว คันเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่ะ ทำไงดี เอางี้ครับ
- ถ้าท่านสวมหน้ากากตลอดเวลา ท่านเสี่ยงต่ำ ท่านไปต้องตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แต่ท่านควรสังเกตอาการ
-ถ้าท่านไม่สวมหน้ากาก หรือสวมไม่ถูกต้อง (ไม่ปิดปาก ปิดจมูก) หรือ เปิดหน้ากากนานเกิน 5 นาที หรือเปิดหน้ากากมาพูดคุยกับผู้ร่วมทางเป็นระยะๆ ถือว่าท่านเสี่ยงสูง ให้ท่านไปตรวจแล็บหลังจากผ่านไป 3-5 วันแล้วและกักตัวเอง 14 วัน
ในที่ทำงานเดียวกัน ถ้าอยู่คนละชั้นคนละแผนกไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ท่านไม่เสี่ยงครับ แต่ถ้าทำงานอยู่ในห้องทำงานเล็กๆ (นั่งห่างกันไม่เกิน 2 เมตร) ด้วยกัน พูดคุยกัน ติดต่อปรึกษางานกันกับผู้ติดเชื้อ ท่านจะสวมหน้ากาก (เสี่ยงสูง) หรือไม่สวม (เสี่ยงสูงมากๆ) ก็ถือว่าท่านเสี่ยงสูง ท่านต้องกักตัว 14 วัน และไปตรวจแล็บในวันที่ 3-5 หลังจากที่ท่านพบผู้ติดเชื้อ
คนสมัยนี้ในเมืองมัก อยู่อาศัยในคอนโดเดียวกัน พอมีข่าวคนในคอนโดติดเชื้อ ก็ทำให้ผู้อาศัยคนอื่นๆ หวาดวิตกไปด้วย คิดง่ายๆ ครับ
-ท่านไม่เสี่ยง ถ้าท่านอยู่คนละชั้นกับผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ชั้นเดียวกันหรืออยู่ห้องติดกันแต่ไม่รู้จักมักคุ้น ไม่เคยพูดจาปราศรัยกันเลย แบบนี้ไม่ต้องตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว
-ท่านเสี่ยงต่ำ ถ้าท่านขึ้นลิฟท์พร้อมผู้ติดเชื้อและท่านสวมหน้ากาก ท่านไม่ต้องไปตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แต่ควรสังเกตอาการ 14 วัน
-ท่านเสี่ยงสูง ถ้าท่านแวะไปพูดคุยทักทายใกล้ชิด รู้จักมักคุ้นหรือไปกินข้าวกับผู้ติดเชื้อ อันนี้ท่านต้องกักตัว 14 วัน และรอ 3-5 วันแล้วไปตรวจแล็บครับ
ยังมีกรณีไหนอีกครับ ที่ทำให้ท่านกังวล อ่อ...นึกได้ละ ที่ร้านอาหาร ท่านเสี่ยงแค่ไหน เอาตามนี้เลยครับ
เด๋วครับ ร้านอาหารปกติที่ไม่ใช่สถานบันเทิง ผับ บาร์หรือการนั่งดริงค์หรืองานปาร์ตี้นะครับ กลุ่มนั้นใครเข้าไปถ้ามีผู้ติดเชื้ออยู่ ผมถือว่า เสี่ยงสูงทุกราย ควรกักตัว 14 วัน และรอ 3-5 วันแล้วไปตรวจแล็บครับ
ร้านอาหารปกติ ถ้าท่านนั่งกินอาหารกับคนติดเชื้อ ถือว่าท่านเสี่ยงสูง ต้องกักตัวและตรวจแล็บครับ
แต่ถ้าท่านนั่งกินห่างจากโต๊ะผู้ติดเชื้อเกิน 1 เมตร ท่านเสี่ยงต่ำครับ ไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องตรวจแล็บ แต่ควรสังเกตอาการตัวเองครับ
พนักงานเสิร์ฟที่สวมหน้ากากยกอาหารมาเสิร์ฟ เดินไปเดินมา ไม่ได้มาอี๋อ๋อหรือนั่งตัก นั่งกระแซะลูกค้า ท่านก็เสี่ยงต่ำครับ ไม่ต้องตรวจแล็บ ไม่ต้องกักตัว แค่สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
ทีนี้ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุดครับ คือ ในบ้านเราเอง ถ้ามีคนติดเชื้อในบ้าน ถือว่าทุกคนเสี่ยงสูง ต้องกักตัวเองและไปตรวจแล็บครับ
ถ้าเราอยู่บ้าน ไม่มีใครออกจากบ้านเลย ไม่มีใครไปมาหาสู่ที่บ้านท่านเลย ความเสี่ยงติดเชื้อเป็นศูนย์ (0) ครับ
ถ้ามีคนออกนอกบ้านแต่สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ รักษาระยะห่าง ความเสี่ยงของคนในบ้านก็เกือบจะเป็นศูนย์
ทีนี้ ถ้าท่านอยู่ในเกณฑ์ต้องตรวจแล็บ ท่านต้องรอ 3-5 วัน เพราะก่อน 3 วันเป็นระยะแฝง (มีเชื้อแต่ตรวจหาไม่เจอ มันแฝงกายอยู่) ถ้าไม่มีอาการ 5 วันดีที่สุด โอกาสเจอเชื้อเยอะที่สุด ถ้าตรวจให้ผลลบก็สบายใจได้ว่า ไม่มีเชื้อโควิด-19
วิธีการตรวจที่ว่านี่เป็นการเก็บตัวอย่างด้วยการป้ายน้ำหลังโพรงจมูก หรือ น้ำลาย ตรวจด้วยวิธีที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐาน คือ เรียลไทม์ อาร์ที พีซีอาร์ (Realtime RT PCR) ครับ มีห้องแล็บที่ได้มาตรฐานอยู่ 279 แห่งทั่วประเทศครับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์คอยกำกับดูแลมาตรฐานอยู่
อย่าไปหลงเชื่อคำโฆษณาเรื่องตรวจไว ตรวจง่าย รู้ผลไว ราคาไม่แพง ประเภทว่าซื้อเอาไปตรวจเองก็ได้ เพราะผลลัพธ์ที่ตรวจได้มันแปลความยาก และพาให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ง่าย
การเลือกวิธีการตรวจ จะต้องพิจารณาทั้งความไวในการตรวจเชื้อ (sensitivity) และความจำเพาะต่อชนิดของเชื้อ (specificity) รวมทั้งการเกิดปฏิกิริยาข้ามกลุ่มกับเชื้อตัวอื่นๆ (cross reaction) อีกทั้งรู้ข้อจำกัดของแต่ละวิธีการตรวจด้วย จึงจะได้ผลการตรวจที่ถูกต้อง ใช้ประโยชน์ได้จริง
ถ้าใช้ชุดทดสอบอย่างไวตรวจหาแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกัน (ร่องรอยการติดเชื้อ) ชนิด Rapid test Antibody แม้ว่าความไวและความจำเพาะจะผ่านเกณฑ์ที่ อย.กำหนดก็ตาม ก็ยังคงมีข้อจำกัดในการเกิดผลบวกลวงหรือผลลบลวง จากคนถูกตรวจกับระยะเวลาการสัมผัสเชื้อโควิด
เช่น ท่านเจาะเลือดตรวจแร็บปิดเทสต์แอนติบอดีที่ท่านซื้อมาชุดละ 300-500 บาท 15 นาทีอ่านผลได้ แล้วผลที่ได้มาไวๆ นั่นน่ะ ท่านจะตีความว่าไงครับ
“ผลลบ” ท่านก็ดีใจตีปีกว่า กูไม่ติดแล้วเว้ย ได้จริงไหม 55 ไม่ได้นะครับ เพราะท่านอาจไม่ติดจริง (อันนี้ก็ดีไป) แต่แอนติบอดีมันอาจยังไม่ขึ้นก็ได้ เพราะกว่าจะขึ้นมันต้องติดเชื้อไปแล้วราวๆ 14 วัน
ถ้าแบบนี้ท่านก็คิดว่าท่านไม่ติด ทั้งๆที่ท่านติด โอกาสในการได้รับการรักษารวดเร็วหรือการป้องกันจากท่านไปสู่คนอื่นก็น้อยลงไป ท่านและสังคมรอบข้างท่าน เสียโอกาสครับ
“ผลบวก” ล่ะครับ ตีความว่า ท่านติดหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว มันตีความได้ว่า ท่านติดก็ได้ ท่านกำลังจะหายแล้วก็ได้ ท่านเคยติดแต่ท่านหายแล้วก็ได้ เห็นไหมครับว่า มีนตรวจง่าย ตรวจไว เห็นผลไว แต่เป็นแปลความและตัดสินใจยากมากๆครับ
เขียนทีไรยาวทุกที อธิบายเรื่องตรวจแล็บไปแล้ว ขออธิบายเพิ่มเติมเรื่อง การกักตัว อีกนิดนึงครับ
กักตัวอยู่บ้าน (Home quarantine) เป็นการอยู่บ้าน ใช้ชีวิตปกติอยู่กับคนในบ้าน แต่ไม่ออกนอกบ้านไปพบปะสถานที่หรือผู้คน สำหรับคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง หรือ คนที่ไปสัมผัสผู้ติดเชื้อแบบเสี่ยงต่ำที่กล่าวมา
แยกกักตัวอยู่บ้าน (Home isolation) เป็นการแยกกักตัวเองออกจากคนอื่นๆในบ้านเพื่อลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนในบ้าน เนื่องจากเราอาจจะมีเชื้ออยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่กล่าวมา
ในอนาคตหากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจจะต้องปรับเรื่อง Home isolation มาใช้วิธีนี้แทน รพ.สนาม สำหรับกลุ่มติดเชื้อที่ไม่มีอาการตามแนวทาง community-based care ซึ่งเป็นจุดแข็งของระบบสาธารณสุขไทยเคียงคู่มากับ อสม.
เอาแค่นี้ก่อนนะครับ เรื่องฟ้าทะลายโจร รอไว้อ่านโพสท์ถัดๆไปครับ