รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า
การนอนหลับเป็นอาวุธสำคัญหนึ่งของมนุษย์ในการดำรงชีวิต มันถูกควบคุมความต้องการให้มากน้อยได้สามช่องทาง หนึ่งเป็นวงจรอัตโนมัติโดยไม่ตั้งใจของร่างกายแต่ละคน สองคือโดยตั้งใจยามไฟลนก้นเช่นคนใกล้สอบ สามคือกึ่งตั้งใจยามมีสิ่งเร้าต่อเนื่องเช่นยามศึกสงคราม กว่าครึ่งเดือนแล้วที่ผมนอนน้อยลงโดยที่ประสิทธิภาพการทำงานตอนกลางวันคงเดิม (อาจป้ำเป๋อเวลาสั่งงานลูกน้องบ้าง) คืนที่ผ่านมาก็เช่นกัน
ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ข้าศึกถั่งโถมดาหน้ามารวดเร็วกว่าศึกสองครั้งก่อน แม่ทัพช่วงแรกดูอ่อนหัดปล่อยให้ข้าศึกแทรกซึมไปทั่วและไม่สามารถปลุกขวัญนักรบแนวหน้าได้ดีพอ อาวุธหนักในการควบคุมประชาชนกองหลังไม่ให้ช่วยเพิ่มข้าศึกด้วยการแพร่กระจายเชื้อ ก็มัวแต่เงื้อง่ากว่าจะเอามาใช้ก็แทบไม่ทันการณ์ ตอนนี้เริ่มมีการจัดกระบวนทัพกันใหม่วางความขัดข้องที่ผ่านมาไปชั่วคราว หนึ่งสัปดาห์จากนี้ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่เพื่อทำให้ผู้ป่วยใหม่รายวันลดลง ข้างหน้ามีแสงสว่างรำไรพอมองเห็นทางรอดจากการสูญเสียครั้งใหญ่ได้
แต่อย่างที่ทำนายไว้ แม้ยอดผู้ป่วยใหม่จะลดลงช้าๆ แต่จำนวนผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง ยุทธวิธีที่จะรับมือยามนี้ หนทางหนึ่งคือการพยายามขยายศักยภาพเตียงในโรงพยาบาลร่วมกับจัดระบบหมุนเวียนผู้ป่วยเข้าออกโรงพยาบาลให้เร็ว และหมุนเวียนเตียงผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลตามระดับความรุนแรงให้มีประสิทธิภาพ อีกทางหนึ่งคือใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างถูกที่ถูกเวลา สามอาวุธสำคัญที่จะรับมือ ผมขอเลือก
1. Pulse oximeter เพื่อวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนจากปลายนิ้ว สำหรับคัดกรองว่าผู้ป่วยโควิด-19 มีปอดอักเสบเกิดขึ้นหรือยังเพื่อเริ่มให้ยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลในโรงพยาบาลหลัก และถ้ามีแล้วจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายหรือไม่
2. ยาสเตียรอยด์ ทั้ง dexamethasone หรือ prednisolone ระลอกนี้แพทย์เริ่มใช้กันเร็วเมื่อเริ่มมีปอดอักเสบโควิดทั้งในระยะแรก (5 วันหลังมีอาการหรือหลังตรวจพบเชื้อ) และระยะหลัง (7-14 วัน) ช่วยให้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตลดลง (ตัวเลขผู้ป่วยหนักดูเยอะเพราะจำนวนผู้ป่วยโดยรวมมากมาย ไม่ใช่ยานี้ไม่ได้ผล)
3. High-flow nasal cannula เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ช่วยลดและชะลอการลุกลามของปอดอักเสบไม่ให้รุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ต้องใช้ให้เร็วเพื่อผลการรักษาที่ดีในเตียงผู้ป่วยระดับ 2 ต่อ 3 ในช่วงโรคขาขึ้น (step up treatment) และนำมาใช้ต่อเนื่องในเตียงผู้ป่วยระดับ 3 ต่อ 2 ในช่วงโรคขาลง (step down treatment)
ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังต้องเหน็ดเหนื่อยหนักกันอีกระยะหนึ่ง ใครที่รู้ตัวว่าทำให้พวกเราเหนื่อยช่วยกันจำไว้ด้วย แล้วค่อยมาเช็คบิลกันหลังเสร็จศึกระลอกนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :