มีโรคประจำตัวฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ เช็กที่นี่

23 พ.ค. 2564 | 03:35 น.

หมออนุตตร เผยข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับผู้ที่มีโรคประจำตัว ชี้ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้มากกว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 
    วัคซีนโควิด-19 กับผู้ที่มีโรคประจำตัว
    ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพียงร้อยละ 11 ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลตัวเองเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิด-19 มีถึงร้อยละ 36 ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนโควิค-19 ดีหรือไม่ โดยมีเหตุผลสำคัญในเรื่องผลข้างเคียง ความปลอดภัย ผลกับโรคของตนเอง และประสิทธิภาพของวัคซีน แล้วยังพบว่า 44% มีน้ำหนักเพิ่มขั้น 30% หยุดออกกำลังกาย 22% พบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น และ 33% ปัญหาโรคเรื้อรังแย่ลงระหว่างการระบาด ผลสำรวจนี้คงไม่แตกต่างจากเมืองไทยสักเท่าไหร่  
    วันนี้เลยขอเอาประเด็นการรับวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวมาเขียนให้ดูกันครับ
    ทำไมผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรได้รับวัคซีนโควิด-19
    ผู้ที่มีโรคประจำตัว มักมีอาการรุนแรงเมื่อเป็น Covid-19 รวมทั้งอาจมีการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่เมื่อมีการติดเชื้อ ทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น และทำให้เสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  ถึงแม้การศึกษาทางคลินิกของวัคซีนทุกตัวในปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมในการศึกษาไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนทั่วไป  
    ข้อมูลที่มีอยู่แสดงว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ  แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็แนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากผลดีจากวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรคจะมากกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากวัคซีน เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว

พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์
    ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นไหม
    เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีด อาการไข้ อาการปวดเมื่อยตามตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นในผู้มีโรคประจำตัวเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว  และรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่นภาวะหลอดเลือดดำอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังการฉีดวัคซีนที่มีรายงานในต่างประเทศประมาณ 1 ในแสนราย ส่วนใหญ่กลับพบในคนอายุน้อยที่ไม่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดอุดตันมาก่อนจึงสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียด (ISRR) จากการฉีดวัคซีนกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งทำให้มีอาการชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง ก็มักเป็นในผู้หญิงอายุน้อย เป็นกลุ่มก้อน โดยไม่พบความผิดปกติของสมอง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือลมชัก ก็สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้  
    ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วโรคที่เป็นจะแย่ลงไหม
    ยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเมื่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ โรคเอชไอวี โรคไทรอยด์ โรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ จะมีอาการแย่ลงหรือกำเริบหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19  แต่มีข้อระมัดระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวในการรับวัคซีนคือ ในช่วงที่รับวัคซีนจะต้องไม่มีการกำเริบของโรค เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการหอบมากขึ้นก่อนฉีด ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเฉียบพลัน ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในช่วงได้รับเคมีบำบัดหรือมีไข้ก่อนให้วัคซีน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ  ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและมีอาการกำเริบของโรคเหล่านี้ ควรได้รับการดูแลรักษาจนอาการกำเริบดีขึ้นแล้ว จึงสามารถฉีดวัคซีนได้
    หากมีข้อสงสัยว่ามีข้อห้ามในการให้วัคซีนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษานะครับ
    พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์
    ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  หรือ ศบค.พบว่าปัจจุบัน (28 ก.พ. -21 พ.ค. 64) มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,811,549 โดส ประกอบด้วย เข็มที่ 1 จำนวน 1,849,393 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 963,156 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :