27 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ สถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ ว่า ความชัดเจนได้เกิดขึ้นวันนี้เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกข้อกำหนดหรือเรียกว่าคำสั่งลูกตามมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อขยายความโดยมีความชัดเจนขึ้น ดังนี้
1.ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายของเขาที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถ้าไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้และการออกประกาศดังกล่าวเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้าแต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือ เรียกว่าตกคุณสมบัติ
2.เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายอำนาจนี้ก็จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด
3.ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้นประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นการจัดหาซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่เขาเป็นอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนกับเอกชน หรือใครต่อใครที่ไปติดต่อแล้วกลับมาขออนุญาต โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิค หรือแม้แต่ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เหมือนกับเอกชนหลายคนที่มีศักยภาพแต่ที่ผ่านมาเอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศมาว่า ตัวเองมีคุณสมบัติ แล้วจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย โดยต้องผ่านอย. รวมทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าตัวใดก็ต้องมาขอ อย.อยู่ดี โดยหลังจากนี้จะมีขีดความสามารถไปติดต่อเองได้ และเมื่ออย.เห็นชอบก็เอาเข้ามาได้แต่ทั้งหมดใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง โดยไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะไปทำเอง
เมื่อถามว่าโรงพยาบาลอื่นๆเช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะดำเนินการเช่นเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องทำเช่นนั้นเป็นไปตามพ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์ เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการคือกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย เขาจึงต้องออกประกาศสถานะเขาขึ้นมา หากในกรณีถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เขาก็มาแบบเอกชนเขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายเจ้าก็ทำกันอยู่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้ตนอธิบายให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็วเพราะ องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้ลงนามใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ท่านเป็นประธานสภาฯ ดังนั้น คนอื่นลงนามไม่ได้ และกฎหมายก็เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยกระดับขึ้น เพราะถ้าไม่มีการออกประกาศ และหากไปยื่นขอจาก อย.ก็จะถูกตีกลับ เพราะไม่มีคุณสมบัติ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง