"วิษณุ" ยัน รพ.ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ทำเหมือน “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ได้  

27 พ.ค. 2564 | 11:10 น.

"วิษณุ" ยัน รพ.ที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ทำเหมือน “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ได้ เพื่อดิวซื้อวัคซีนเอง ชี้ อุดช่องว่างช่วงขาดแคลน ยกสถานะให้คุณสมบัติครบ แต่ยังต้องมาขอ อย. - สาธารณสุข เหมือนเดียวกับรพ.เอกชน โดยใช้งบของราชวิทยาจุฬาภรณ์เอง

27 พฤษภาคม 2564 จากกรณีที่ราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ สถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ โดยสาระสำคัญเป็นการเพิ่มอำนาจในการจัดหา ผลิต จำหน่าย และนำเข้าวัคซีนโควิดได้เอง เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า แล้วโรงพยาบาลอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จะสามารถดำเนินการเช่นเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้หรือไม่นั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ไขข้อข้องใจเรื่องนี้ว่า การที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต้องทำเช่นนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์ เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการคือกระทรวง  ทบวง  กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย เขาจึงต้องออกประกาศสถานะเขาขึ้นมา หากในกรณีถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เขาก็มาแบบเอกชนเขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายเจ้าก็ทำกันอยู่

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ตนได้อธิบายให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบแล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็วเพราะองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้ลงนามใช่หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า "ตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ท่านเป็นประธานสภาฯ ดังนั้น คนอื่นลงนามไม่ได้ และกฎหมายก็เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ยกระดับขึ้น เพราะถ้าไม่มีการออกประกาศ และหากไปยื่นขอจาก อย.ก็จะถูกตีกลับเพราะไม่มีคุณสมบัติ"

ทั้งนี้ นายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรี ได้ขยายความ พร้อมอธิบายถึงเรื่องนี้ด้วยว่า หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์อื่น ๆ กระทั่งเมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ออกข้อกำหนด หรือเรียกว่า คำสั่งลูกตามมา ทำให้เกิดความชัดเจนในหลายประการ ดังนี้  

1.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายของเขาที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถ้าไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้และการออกประกาศดังกล่าวเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้าแต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือ เรียกว่าตกคุณสมบัติ

2.เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้น และใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน  โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลายอำนาจนี้ก็จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด  

3.ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้นประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการจัดหาอาจซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังดำเนินการอยู่หรือไม่นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่า ไม่ซ้ำซ้อนเพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่เป็นอีกช่องทางหนึ่งเหมือนกับเอกชนหรือใครต่อใครที่ไปติดต่อแล้วกลับมาขออนุญาต โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะไปติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิค หรือแม้แต่ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เหมือนกับเอกชนหลายคนที่มีศักยภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศมาว่า ตัวเองมีคุณสมบัติ แล้วจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย ซึ่งก็ต้องผ่าน อย. รวมทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าตัวใดก็ต้องมาขอกับทาง อย.อยู่ดี ซึ่งหลังจากนี้จะมีขีดความสามารถไปติดต่อเองได้ และเมื่ออย.เห็นชอบก็เอาเข้ามาได้แต่ทั้งหมดใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง โดยไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะไปทำเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง