นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงกรณีปรากฎเป็นข่าวว่า ไทยเปลี่ยนท่าทีการเข้าร่วม COVAX Facility โดยกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการเมื่อเดือนเมษายน ให้คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ทาบทามกลไล COVAX Facility ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อจัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap arrangement) ดังนี้
ความตกลง vaccine swap arrangement เป็นการจัดทำความตกลงระหว่างสองฝ่าย โดยประเทศหนึ่งประสงค์ขอรับวัคซีนจากอีกประเทศที่ยังไม่มีความต้องการใช้หรือที่มีเกินความต้องการ (surplus) มาใช้ก่อน และจัดส่งคืนภายหลังเมื่อมีวัคซีนในประเทศเพียงพอ การจัดทำความตกลงดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่หลายประเทศทำอยู่ เช่น ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ
ทั้งนี้ การทาบทาม COVAX Facility เพื่อจัดทำความตกลง vaccine swap arrangement เป็นเรื่องที่แยกจากการเจรจาความตกลงจัดซื้อวัคซีนหรือเข้าร่วม COVAX Facility และเป็นเพียงมิติหนึ่งของความร่วมมือที่ฝ่ายไทยสามารถมีกับ COVAX Facility
อีกมิติของความร่วมมือระหว่างไทยกับ COVAX Facility คือ ในแง่ของการเป็นประเทศผู้บริจาค โดยเมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มอบเงินสนับสนุน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ข้อริเริ่มส่งเสริมการวิจัย จัดสรร ผลิตวัคซีน หรือ The Access to COVID-19 Tools (ACT) Accelerator ผ่าน WHO เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและจัดสรรวัคซีนและยาในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก (Global Public Goods และรัฐบาลไทยจะสนับสนุนเงินเพิ่มเติมอีก 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไก ACT Accelerator มอบให้ COVAX Facility โดยตรงเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนสำหรับประชาคมโลก
นอกจากนี้ ไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับ COVAX Facility ในอนาคต โดยการบริจาควัคซีน (ที่ผลิตในไทย) ให้กับ COVAX Facility เมื่อ ไทยมีวัคซีนเพียงพอสำหรับในประเทศแล้ว
ดังนั้น การทาบทามจัดทำความตกลง vaccine swap arrangement เป็นเพียงหนึ่งมิติของความร่วมมือ/การหารือที่ฝ่ายไทยกำลังดำเนินการกับ COVAX Facility ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินการทุกๆ ด้านที่เป็นไปได้ ไม่มองข้ามโอกาสต่าง ๆ ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 เป็นการทำงานเชิงรุกในการขยายขอบเขตของการจัดหาวัคซีนที่ถูกต้องที่กระทำกันในทุกวงการเพื่อโอกาส อันเป็นประโยขน์ต่อประชาชนที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงประธานาธิบดีปูติน เพื่อจัดซื้อวัคซีน Sputnik V ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี
กระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทามทำความตกลง vaccine swap arrangement กับประเทศอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจาก COVAX Facility อาทิ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้รับข้อเสนอของไทยไปพิจารณา และบางประเทศ (อาทิ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) ได้แจ้งตอบมาแล้วว่า ยังเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัคซีนในประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศยินดีและพร้อมดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนภารกิจของประเทศไทยในการจัดการกับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดหา/จัดสรรวัคซีน การดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของไทยและคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างไทยกับประชาคมโลก เพื่อให้ไทยสามารถต่อสู้กับการแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดียิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อรักษาบทบาทไทยด้านสาธารณสุขในเวทีระหว่างประเทศด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: