รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 30 พฤษภาคม 2564
มาเลเซียติดเพิ่มวันเดียวกว่าเก้าพันคน เสียชีวิตเกือบร้อยคน รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์สองสัปดาห์ตั้งแต่ 1-14 มิถุนายน 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 480,962 คน รวมแล้วตอนนี้ 170,607,038 คน ตายเพิ่มอีก 10,474 คน ยอดตายรวม 3,547,762 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดยังเป็นเช่นเดิม คือ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 11,863 คน รวม 34,034,520 คน ตายเพิ่ม 345 คน ยอดเสียชีวิตรวม 609,416 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่มมากถึง 174,041 คน รวม 27,893,472 คน ตายเพิ่ม 3,614 คน ยอดเสียชีวิตรวม 325,998 คน อัตราตาย 1.2%
บราซิล ติดเพิ่ม 78,943 คน รวม 16,471,600 คน ตายเพิ่มถึง 1,971 คน ยอดเสียชีวิตรวม 461,142 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 10,675 คน ยอดรวม 5,657,572 คน ตายเพิ่ม 68 คน ยอดเสียชีวิตรวม 109,358 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 7,656 คน รวม 5,235,978 คน ตายเพิ่ม 137 คน ยอดเสียชีวิตรวม 47,271 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และเยอรมัน ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย ชิลี บาห์เรน โบลิเวีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เนปาล และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
ตอนนี้มาเลเซียติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 9,020 คน ตายเพิ่ม 98 คน ยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน และยูเครน ที่ยังหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน
เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
วิเคราะห์ภาพรวมการระบาดของโลก
สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนติดเชื้อใหม่มี 3.65 ล้านคน แนวโน้มลดลงราว 15% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
เสียชีวิตไปเพิ่มประมาณ 78,000 คน ลดลง 9%
สำหรับประเทศไทยเรา ข้อมูลที่รายงานเมื่อวาน ทำให้ไทยเรามีจำนวนการติดเชื้อใหม่เพิ่มมากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
จำนวนเคสรุนแรงและวิกฤติ เป็นอันดับที่ 19
จำนวนการเสียชีวิตเพิ่ม เป็นอันดับที่ 34
จำนวน active case เป็นอันดับที่ 38
และในอีกไม่กี่วัน ไทยน่าจะมียอดติดเชื้อรวมแซงประเทศมาเซโดเนียเหนือ ขึ้นเป็นอันดับที่่ 82 ของโลกได้
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็น
การระบาดยังกระจายไปทั่วหลากหลายกลุ่มหลากหลายสถานที่ ยังควบคุมไม่ได้ วัคซีนที่มีอยู่ จำกัดทั้งปริมาณ และชนิด โดยยังมีการฉีดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ ศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นก็มีจำกัด
การเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดได้ เพราะจำนวนคนที่เข้ามามากขึ้น แม้จะได้เม็ดเงินเข้ามา แต่จะเพิ่มจำนวนการพบปะกันติดต่อกัน ระยะเวลาการสัมผัส และแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ให้บริการ ก็จะเดินทางไปที่ต่างๆ มากขึ้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจต่างๆ ทั้งเล็กกลางใหญ่ หลายต่อหลายที่ก็ยังมีจุดอ่อนที่เสี่ยงต่อการรระบาด ทั้งเรื่องค้าขาย และบริการ โดยที่กำลังในการตรวจตรากำกับก็มีไม่เพียงพอที่จะทำได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง
จึงพอคาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสสูงที่เราจะเจอระลอกสี่ตามมาในเวลาไม่นาน แม้ว่าปัจจุบันยังผจญกับระลอกสามโดยยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดก็ตาม
ประเมินความเสี่ยงแล้ว ควรชะลอการเปิดประเทศไปก่อน อย่าเพิ่งเริ่มทำในเดือนกรกฎาคมนี้
งบประมาณที่จะกู้มาเพิ่มนั้น ควรสำรองไว้ให้ดี ไม่ควรทุ่มไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยามที่การระบาดยังควบคุมไม่ได้ ไม่งั้นจะเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ขอให้ประชาชนอย่างพวกเราป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ประหยัด รัดเข็มขัด ลดการใช้ของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ด้วยรักและห่วงใย
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 30 พ.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ติดเชื้อเพิ่ม 4,528 ราย สะสมระลอกที่สาม 125,444 ราย ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 154,307 ราย ออกจากโรงพยาบาลได้ 2,933 ราย หายป่วยสะสม 77,818 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย เสียชีวิตระลอกที่สาม 918 ราย เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 1,012 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :