ประชาชนเชียงใหม่-โคราช-อุบลฯ หลั่งไหลฉีดวัคซีนวันแรกคึกคัก

07 มิ.ย. 2564 | 07:28 น.

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันแรกแก่ประชาชนในจังหวัดหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ นครราชสีมา และอุบลราชธานี เป็นไปอย่างคึกคัก ยังไม่มีรายงานปัญหา และทางจังหวัดคาดหวังจะได้รับวัคซีนจากสธ.อย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการเป็นไปตามเป้าหมายอย่างราบรื่น

7 มิ.ย. 2564 บรรยากาศ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันแรก ในหลายจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ เป็นไปอย่างคตึกคัก โดยผู้สื่อข่าวรายงานจาก จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ว่าประชาชนให้ความสนใจมารับการฉีดวัคซีนตามที่ได้ลงทะเบียนไว้อย่างคึกคัก โดยที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นจุดฉีดวัคซีนหลักของจังหวัดเชียงใหม่ มีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้กับโรงพยาบาลนครพิงค์ผ่านระบบหมอพร้อม ทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เช้า ซึ่งจุดฉีดนี้สามารถรองรับผู้มาฉีดวัคซีนได้ 1,500-2,000 คน ต่อวัน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนวันแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นไปอย่างเรียบร้อยในทุกจุด รู้สึกดีใจที่ประชาชนมีความกระตือรือร้นร่วมกันมาฉีดวัคซีน “การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนการสร้างกำแพงเมือง หากประชาชนทุกคนร่วมใจกัน กำแพงเมืองก็จะมีความแข็งแรง และป้องกันภัยจากโควิด-19 ได้” ผู้ว่าเชียงใหม่กล่าว พร้อมยืนยันว่า ทางจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ แต่บางช่วงอาจได้รับการจัดสรรมาจำนวนน้อย เพราะต้องเฉลี่ยวัคซีนไปให้พื้นที่ที่จำเป็นก่อน ในส่วนของประชาชนชาวเชียงใหม่ พบว่ามีเพียงร้อยละ 10 ที่ยังมีความลังเลในการฉีดวัคซีน ซึ่งทางจังหวัดก็จะเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้มีข้อมูลที่ถูกต้องและเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนวันแรกพบว่ามีข้อขัดข้องบางประการเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบหมอพร้อมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งจะมีการนำปัญหาดังกล่าวไปหารือเพื่อถอดบทเรียนและหาแนวทางแก้ไขต่อไป  นายแพทย์วรเชษฐ์ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวว่า วันแรกนี้มีประชาชนมารับการฉีดวัคซีนกว่า 2,000 คน โดยเป็นประชาชนที่ลงทะเบียนจองไว้ในระบบหมอพร้อม และกลุ่มอาชีพเสี่ยงซึ่งคงค้างจากการจัดการในช่วงก่อนหน้านี้  ส่วนวัคซีนที่ฉีดในวันนี้เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคจำนวน 400 โดส ส่วนที่เหลือจะเป็นวัคซีนของซิโนแวค และคาดว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จประมาณ 16.00 น.

นอกจากจุดฉีดอุทยานหลวงราชพฤกษ์แล้ว จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดจุดฉีดวัคซีนหลายแห่งกระจายครอบคลุมทั้งจังหวัด เช่นในพื้นที่อำเภอเมือง มีจุดฉีดวัคซีนที่ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือโรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลประสาท ขณะที่อำเภออื่น ๆ มีจุดฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่ง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ประชาชนเชียงใหม่-โคราช-อุบลฯ หลั่งไหลฉีดวัคซีนวันแรกคึกคัก

ส่วนบรรยากาศการฉีดวัคซีนที่นครราชสีมา เป็นไปอย่างคึกคักเช่นกัน โดยวันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมคณะแพทย์ ได้ร่วมกันตรวจเยี่ยม และเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าให้กับประชาชนกลุ่มผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ที่ได้มีนัดไว้อย่างเป็นทางการ ปรากฎว่า มีประชาชนที่ได้รับการนัดหมายเดินทางมาต่อคิวรอฉีดกันอย่างคึกคักตั้งแต่ก่อนเวลา 08.00 น. ซึ่งจุดบริการที่เซ็นทรัลพลาซ่านครราชสีมานี้ อยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีการจัดระบบการฉีดวัคซีนไว้อย่างดี ตั้งแต่ระบบคัดกรอง สอบประวัติ วัดความดันโลหิต ที่นั่งรอเว้นระยะห่าง การเข้าคิว โต๊ะเจ้าหน้าที่พยาบาลฉีดวัคซีน และจุดพักเฝ้าดูอาการ เป็นต้น

ผู้ว่านครราชสีมาเปิดเผยว่า ทางจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข ช่วงเดือนมิถุนายนนี้ จำนวน 89,100 โดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ จำนวน 40,500 โดส ซึ่งจะมาในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิ.ย. จำนวน 23,600 โดส และสัปดาห์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 20-26 มิ.ย.จำนวน 16,900 โดส นอกนั้นจะเป็นวัคซีนซิโนแวค จำนวน 48,600 โดส โดยจะได้รับการจัดสรรมาช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ระหว่างวันที่ 7-13 มิ.ย.จำนวน 24,300 โดส และสัปดาห์ที่ 4 ระหว่างวันที่ 27-30 มิ.ย. จำนวน 24,300 โดส

สำหรับ จุดบริการฉีดวัคซีนในเขต อ.เมืองนครราชสีมา 5 จุด ได้แก่

  • ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา
  • ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า นครราชสีมา
  • โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • โรงพยาบาลค่ายสุรนารี
  • โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ (ซึ่งฉีดให้กับผู้ป่วยจิตเวช)

ส่วนในพื้นที่ต่างอำเภอ จะมีจุดฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ทุกแห่ง สำหรับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 48,600 โดสนั้น จะให้บริการสำหรับผู้ที่จะต้องฉีดเข็มที่ 2 ให้ครบก่อน โดยหลังฉีดเข็มที่ 2 ครบแล้ว ก็จะเริ่มวางเป้าหมายกลุ่มใหม่ ที่มีอายุ 18-59 ปีต่อไป

ต่อไปจากนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมา มีแผนจะพัฒนาโปรแกรมจองฉีดวัคซีน “หมอพร้อม” ให้เป็นโปรแกรม “โคราชพร้อม” และจะเปลี่ยนระบบการจองจากที่กำหนดวันที่และเวลา เป็นการจัดลำดับคิวแทน แล้วให้หน่วยบริการฉีดวัคซีน เป็นผู้นัดวันฉีดและเวลาที่ฉีดเอง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่จะได้รับในแต่ละสัปดาห์ต่อไป

ประชาชนเชียงใหม่-โคราช-อุบลฯ หลั่งไหลฉีดวัคซีนวันแรกคึกคัก

ด้านจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอีกจังหวัดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดฉีดวัคซีนโควิดในช่วงวันที่ 7 – 9 มิถุนายนนี้ เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 18,600 โดสสำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง จากนั้นตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนเป็นต้นไป ทางจังหวัดจะทำการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายตามที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเข้ามา โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ทางจังหวัดมีจุดให้บริการฉีดวัคซีนทั่วจังหวัดทั้ง 25 อำเภอ จำนวน 37 แห่ง ให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้แห่งละ 600 คนต่อวัน สำหรับการฉีดวันแรกนี้ตั้งแต่เริ่มต้นฉีดตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้  ยังไม่มีรายงานผู้มีอาการแพ้ หรืออาการไม่พึงประสงค์

ประชาชนเชียงใหม่-โคราช-อุบลฯ หลั่งไหลฉีดวัคซีนวันแรกคึกคัก

ขอบคุณภาพ จาก สวท.อุบลราชธานี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง