8 มิถุนายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 มิถุนายน 64) คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือ เรียกว่า ภาวะ VITT (Vaccine-induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia) ซึ่งจะแสดงอาการหลังจากได้รับวัคซีนประมาณ 4 - 30 วัน เช่น มีอาการปวดหัวรุนแรง แขนขาชาอ่อนแรง หน้า-ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เหนื่อยง่าย หายใจลำบากหรือติดขัด เจ็บแน่นหน้าอก เป็นต้น
แม้อัตราการเกิดภาวะ VITT จะต่ำมากอยู่ที่ 1 : 125,000 – 1 : 1,000,000 ของผู้ได้รับวัคซีนโควิด แต่ สปสช. ก็ต้องขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมเพื่อคุ้มครองคนไทยโดยสนับสนุนค่าตรวจและค่ารักษาให้ฟรี ซึ่ง สปสช. คาดว่า จะใช้งบประมาณราว 9.28 ล้านบาท โดยครอบคลุมการเบิกจ่าย 4 รายการ ได้แก่
1.การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง CBC
2.การตรวจวินิจฉัย Heparin-PF4 antibody (lgG) ELISA assay
3.การตรวจวินิจฉัย Heparin induced Platelet activation test (HIPA)
4.ยา Human normal immunoglobulin, intravenous (IVIG) ซึ่งให้เบิกจ่ายตามระบบ VMI
สำหรับยา IVIG รักษาภาวะ VITT นั้น ไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติจึงต้องเบิกจ่ายผ่านโปรแกรมยา จ2 ภายใต้เงื่อนไขการดำเนินการโครงการศึกษาและพัฒนาบริการ โดย สปสช. กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโลหิตวิทยา และคณะทำงาน AEFI ที่จะดำเนินการร่วมกันใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. พัฒนาหน่วยตรวจให้ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพของประเทศ
2. ติดตามข้อมูลอุบัติการณ์การเกิด VITT
3. ประเมินประสิทธิผลของยา IVIG และหลังจากที่ได้ดำเนินการครบระยะเวลา 1-2 ปี จะมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ในกรณีนี้อีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อนุทิน" แจงเหตุตั้งกก.สอบ'รพ.เลื่อนฉีดวัคซีน' เพื่อไม่ให้กระทบฉีดเข็ม 2
ไทยฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 4.21 ล้านโดส
'ไขข้อสงสัย' หญิงตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่
รฟม. กำชับแคมป์คนงานก่อสร้าง 3เส้นทาง รถไฟฟ้าเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19
"AstraZeneca" ประสิทธิผลลดเหลือ 60% เมื่อเจอโควิดสายพันธุ์อินเดีย "หมอธีระ" ชี้ดื้อต่อวัคซีนที่ไทยมี