รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
อังกฤษต้องล็อกดาวน์ประเทศต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งเดือน เหตุเกิดจากไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า(อินเดียเดิม) ซึ่งแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษเดิม)ถึง 60%
สถานการณ์การระบาด โควิด-19 ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 และจัดว่ารุนแรงมากประเทศหนึ่งของยุโรป จนกระทั่งต้นปี 2564 เมื่อมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ จึงได้มีการประกาศล็อกดาวน์ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของอังกฤษ ไม่สามารถจะรองรับจำนวนผู้ป่วยปานกลางและผู้ป่วยหนักได้ เพราะไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์อัลฟ่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 70%
นอกจากนั้น ทางการอังกฤษยังได้ระดมฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก โดยได้มีการอนุมัติวัคซีนของ Pfizer เมื่อ 2 ธันวาคม 2563 และของ AstraZeneca ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ตามด้วยของ Moderna เมื่อมกราคม 2564 รวมทั้ง ได้เริ่มมีการฉีดวัคซีนของทั้ง Pfizer และ AstraZeneca ส่งผลให้มีการติดเชื้อลดลงถึงสองในสาม และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรค เพียงฉีดวัคซีนเข็มแรกได้สูงถึง 74% มาตรการทั้งล็อกดาวน์ และระดมฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อของคนอังกฤษ ซึ่งเคยขึ้นสูงสุดเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ติดเชื้อถึงวันละ 67,846 ราย และในวันที่ 29 มกราคม 2564 เสียชีวิตวันเดียวมากถึง 1,823 คน ได้ชะลอลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายวัน 3,165 คน แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการติดเชื้อได้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็น 7,393 รายต่อวัน สูงที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา และพบว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ กว่า 90% เป็นสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพิ่มจาก 29,892 ราย มาเป็น 42,323 รายแล้ว เหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นเพราะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าระบาด ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าถึง 60% หรือมากกว่าสายพันธุ์เดิมได้ถึง 170% ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก 4-11 วัน
ทั้งที่ได้มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วมากถึง 41 ล้านเข็ม คิดเป็น 60%ของประชากร และเข็มสองฉีดไปแล้ว 29 ล้านเข็ม คิดเป็น 43% ของประชากร ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า สามารถฝ่าด่านของวัคซีนได้ ซึ่งเป็นวัคซีนชั้นยอดทั้งคู่คือ Pfizer และ AstraZeneca ตัวเลขที่พบการติดเชื้อ ก็จะเป็นคนหนุ่มสาว ที่ยังได้รับวัคซีนจำนวนน้อยกว่าคนสูงอายุ มีการติดเชื้อมากกว่า จึงคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ ก็จะต่ำกว่าในระลอกก่อน
จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี ที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้เรียนรู้ได้ว่า ในการควบคุมสถานการณ์ของ โควิด-19 นั้น
1.จะต้องเร่งควบคุมการระบาดให้อยู่หมัดโดยเร็ว ถ้าจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ก็จำเป็นต้องใช้
2.ต้องระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข็มหนึ่งของ AstraZeneca เพราะเข็มเดียวก็ขึ้นสูงพอสมควร
3.สำคัญกว่าสองอันแรกคือ ต้องป้องกันไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์เบต้าหรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อย่าให้เข้ามาแพร่กระจายในประเทศไทยได้
เพราะถ้าหลงเข้ามาเพียงไม่กี่ราย แต่ด้วยอัตราการแพร่ที่รุนแรง ก็จะฝ่าด่านวัคซีนที่ฉีดไว้ได้ และจะครอบคลุมสายพันธุ์อัลฟ่าที่กำลังระบาดในประเทศไทยตอนนี้ได้ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักในที่สุด เหมือนเช่นที่อังกฤษ
ส่วนการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทยนั้นต้องเน้นไปที่สองกรณีด้วยกัน คือ
1.กรณีผิดกฎหมายคือ หลบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ อันนี้จะต้องเข้มงวดกวดขัน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ จะต้องช่วยกันแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการโดยเร็ว
2.กรณีเข้ามาโดยถูกต้องตามกฏหมาย ก็คือ คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ หรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เพราะแม้คนเหล่านี้ จะได้ทำการตรวจจากต้นทางมาแล้ว ว่าไม่มีไวรัส (PCR) แต่ก็ยังตรวจพบไวรัสแอบซ่อน แบบไม่แสดงอาการและสามารถตรวจพบได้ที่สถานกักตัวของรัฐนับ 1000 คน เพียงแต่ว่าเรากักตัวไว้ได้สำเร็จ (14 วัน) และกรณีที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม จะให้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้ เช่นตัวอย่างการท่องเที่ยวทดลองนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต (Phuket Sandbox) ก็ยังอาจจะมีโอกาสที่มีไวรัสหลบวัคซีนอยู่ในตัวนักท่องเที่ยวได้
ถ้าเป็นสายพันธุ์เดิม หรือสายพันธุ์อัลฟ่า ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่ถ้าเป็นสายพันธุ์เดลต้า ก็อาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเกาะภูเก็ต เหมือนที่เกิดขึ้นกับเกาะอังกฤษ แล้วถ้าแพร่ออกจากเกาะภูเก็ต มาถึงข้างนอกได้ ก็จะทำให้เราเดือดร้อนกันทั้งประเทศได้ จึงต้องวางแผน และปฏิบัติตามแผนอย่างละเอียดรอบคอบทุกจุด เพื่อให้การนำร่องที่ภูเก็ต ไม่สร้างผลกระทบต่อจังหวัดอื่นๆต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันนี้ 13 มิถุนายน 2564 พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 2,804 ราย
สะสมระลอกที่สาม 167,046 ราย
สะสมทั้งหมด 195,909 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 4,143 ราย
สะสม 126,988 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 18 ราย
สะสมระลอกสาม 1,355 ราย
สะสมทั้งหมด 1,449 ราย
ขณะที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่มีจำนวน 40,046 ราย ประกอบด้วย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 13,894 ราย และอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 26,152 ราย โดยเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,215 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 351 ราย
ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.-12 มิ.ย. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 6,081,242 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 4,456,786 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,624,456 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :