วันนี้(14 มิ.ย.64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ. ศปก.ศบค. พร้อมด้วย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และ นพ.โอกาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวถึงการแก้ปัญหาจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่กทม.
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนเป็นการบูรณาการโดย ศบค. และ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ 1-2 วันที่ผ่านมา มีประเด็นเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ตนเชิญ นพ.โอภาส และ พล.ต.อ.อัศวิน มาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจในประเด็นต่างๆ
“ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ทุกหน่วยงานตั้งใจทำงานช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ ซึ่งนโยบายนายกฯ ต้องการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติในไทย 2.6 ล้านคน จึงต้องเตรียมวัคซีน 100 ล้านโดส กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเรียบร้อยแล้วเพื่อให้ได้ตามจำนวนภายในปี 64 ได้แก่ ซิโนแวค 8 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส ซึ่งมีค่าเท่ากับวัคซีนอื่นเป็นสองเท่า และกระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมจัดหาเพิ่มเติม จึงยืนยันว่ามีวัคซีนเพียงพอฉีดให้ประชากรอย่างน้อย 50 ล้านคน ในปีนี้อย่างแน่นอน”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า มิ.ย.นี้ จะมีวัคซีน 6 โดส และในเดือนต่อไปจะเป็น 10 ล้านโดส เป็นอย่างน้อย จะทำให้ ก.ย.นี้ หรืออย่าช้า ต.ค.นี้ จะฉีดให้ประชาชนครบ 50 ล้านโดส ซึ่งการวางแผนที่ดีที่สุดคือเมื่อได้วัคซีนมาแล้วจึงมาวางแผนฉีด แต่มีความล่าช้า จึงต้องวางแผนล่วงหน้าประมาณการวัคซีนที่จะเข้ามาเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีความคลาดเคลื่อนไม่เข้ามาตามแผน ก็ต้องปรับต้องเลื่อนวันบ้าง
“ต้องกราบขออภัยประชาชนด้วย บริษัทวัคซีนไม่ได้ผิดเงื่อนไขเพราะยังอยู่ในกรอบของเดือนมิ.ย.นี้ ทางกทม.ก็แก้ปัญหาแล้ว ยืนยันไม่มีวัคซีนการเมือง ทุกหน่วยงานทำงานภายใต้นโยบายของ ศบค.”เลขาฯ สมช.ระบุ
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างน้อย 50 ล้านคน หรือร้อยละ 70 โดยให้เสร็จสิ้นภายในปี 64 ทั้งนี้ ตั้งแต่ก.พ. ที่ผ่านมา นำเข้าวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส โดยกทม.ได้รับจัดสรรฉีดสูงสุดกว่า1 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ตามธรรมชาติของการผลิตวัคซีนมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง การผลิตจึงต้องตรวจสอบและควบคุมคุณภาพทั้งภายในและจากต่างประเทศ ส่วนการจัดสรรคำนึงถึงข้อมูลวิชาการ พื้นที่ สถานการณ์การระบาด เป็นต้น มีการจัดลำดับความสำคัญให้กับกลุ่มเสี่ยงด่านหน้า เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดเกือบครบ 100% แล้ว และตั้งแต่ 7มิ.ย. การกระจายวัคซีนเป็นการทยอยส่งมอบเป็นงวดๆ ตามสัญญา ซึ่งมีการฉีดให้คนกลุ่มอื่นๆด้วยเช่น ครู เพื่อรับการเปิดเทอม บุคคลในส่วนขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ไม่ให้มีการระบาด และกลุ่มแรงงานผู้ประกันตนตาม ม.33 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"เดือนมิ.ย.จะมีการกระจายวัคซีนเป็นสองงวด ตั้งแต่ 7-20 มิ.ย. จำนวน 3 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส มีการส่งให้กทม. 5 แสนโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส ซิโนแวค 1.5 แสนโดส ประกันสังคม 3 แสนโดส มหาวิทยาลัย 11 แห่ง 1.5 แสนโดส ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส รวมถึงส่วนที่เอาไว้รองรับสถานการณ์การระบาดเช่น จ.เพชรบุรี และงวดที่2 กำหนดกระจาย 21 มิ.ย.-2ก.ค. นี้ จำนวน 3.5 ล้านโดส ซิโนแวค 2 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส ทั้งหมดจะถูกกระจายในเดือนมิ.ย. 6 ล้านโดส" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนวัคซีนล็อตต่อไปจะเข้ามาเร็วที่สุดวันใดนั้น เมื่อวัคซีนเข้ามาก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ มีหลายล้านโดสกำลังรอตรวจสอบคุณภาพ จึงขอไม่กำหนดวัน เพราะเรื่องคุณภาพมีความสำคัญ
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับวัคซีนก่อน 14 มิ.ย. กทม.จึงแจ้งผู้ที่ลงทะเบียน ตั้งแต่ 15-20 มิ.ย.ให้ชะลอการฉีด และเมื่อได้รับวัคซีนเมื่อไหร่จะดำเนินการฉีดให้เร็วที่สุด รับมาวันไหนวันรุ่งขึ้นฉีดให้ประชาชนทันที
โดยผู้ที่ลงทะเบียนในวันที่ 15-20 มิ.ย.จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับฉีด ไม่ต้องวนไปต่อท้ายใหม่ ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 1.4 แสนคน และผ่านไทยรวมใจ 1.7 แสนคน รวมกันประมาณ 3.2 แสนคน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะความขัดแย้ง กระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงาน ช่วยแบ่งเบางานกทม.อย่างมาก ในการฉีดให้ประชาชน” พล.ต.อ.อัศวิน ระบุ
ข่าวเกี่ยวข้อง: