"AstraZeneca"-"Pfizer" 2 เข็มลดการนอน รพ. จากโควิดสายพันธุ์อินเดียได้มากกว่า 90%

21 มิ.ย. 2564 | 08:15 น.

หมออนุตตรเผยผลวิจัยฉีดวัคซีน AstraZeneca-Pfizer 2 เข็มช่วยลดการนอนโรงพยาบาลจากจากโควิดสายพันธุ์อินเดียได้มากกว่า 90%

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า ลองค้นเรื่องวัคซีนโควิด-19 กับสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ที่ตอนนี้อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในเมืองไทยในอนาคต  พบมีงานวิจัยที่รออนุมัติให้ตีพิมพ์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่แหล่งของงานวิจัยน่าเชื่อถือ เป็นงานวิจัยเรื่อง Effectiveness of COVID-19 vaccines against hospital admission with the Delta (B.1.617.2) variant สรุป (ยาวและยากหน่อย) ได้ตามนี้ครับ
    ผู้วิจัยกลุ่มนี้ ได้รายงานก่อนหน้านี้เรื่องประสิทธิผลของวัคซีนต่อการเกิดโควิด-19 (Covid-19) ที่มีอาการจากสายพันธ์เดลต้า พบว่าวัคซีนมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลต้าลดลงอย่างชัดเจนหากได้รับวัคซีนเพียงโดสเดียว คือลดลงจาก 51.1% ในผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ, B.1.1.7) เหลือ 33.5% สำหรับสายพันธ์เดลต้า โดยประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองชนิดคือ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้วัคซีนโดสเดียวไม่แตกต่างกัน 
    แต่เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 โดส พบว่า ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ลดลงจาก 93.4% เป็น 87.9% และประสิทธิผลของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ลดลงจาก 66.1% เป็น 59.8% (Lopez Bernal J, Andrews N, Gower C, Gallagher E, Utsi L, Simmons R, et al. Effectiveness of COVID-19 vaccines against the B.1.617.2 (Delta) variant (IN PRESS). New England Journal of Medicine. 2021.)
    กลุ่มนักวิจัยจึงทำการศึกษาต่อว่า ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลต้าจะเป็นอย่างไร โดยทำการศึกษา ระหว่างวันที่ 12 เมษายนถึง 4 มิถุนายน 2564 จากข้อมูลการนอนโรงพยาบาลทั้งหมดในอังกฤษภายใน 14 วันหลังจากการตรวจเชื้อโควิด 19 เป็นบวก (ในอังกฤษจะรับผู้ป่วยโควิด 19 ไว้ในโรงพยาบาลเฉพาะเมื่อมีอาการหนักเท่านั้น ไม่ได้ให้นอน รพ.หมดเหมือนบ้านเรา)

พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์
Odds Ratio (OR) ของการเกิดโควิด 19 ที่มีอาการ หมายถึง ผู้ที่เกิดโควิด 19 ที่มีอาการมีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นจำนวนกี่เท่าของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน (ตัวเลข <1 แสดงว่ามีผู้รับวัคซีนเกิดโควิด 19 ที่มีอาการน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งแสดงว่าการฉีดวัคซีนได้ผลดี)
    สัดส่วนความเป็นอันตราย (Hazard Ratio, HR) ของโควิด 19 ที่นอนโรงพยาบาล หมายถึง การประมาณสัดส่วนการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
    ประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล (Vaccine Effectiveness, VE) = 1 - (OR ของการเกิดโควิด 19 ที่มีอาการ x HR ของโควิด 19 ที่นอนโรงพยาบาล)
มีผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมด 14,019 ราย มีผู้ป่วย 166 รายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผลการศึกษาตามตาราง พบว่า
    วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลหลังโดสแรก 94% และหลังโดสที่สอง 96%
    วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลหลังโดสแรก 71% และหลังโดสที่สอง 92%
    การศึกษานี้แสดงว่าถึงแม้ประสิทธิผลของวัคซีนต่อการเกิดโควิด 19 แบบมีอาการจะลดลงสำหรับสายพันธุ์เดลต้าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) ตามการศึกษาก่อนหน้า  แต่วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลสำหรับเชื้อสายพันธ์เดลต้าไม่ต่างจากสายพันธุ์อัลฟ่าเลย 
    เน้นอีกครั้งว่ายังเป็น Preprint not certified by peer review นะครับ คงต้องรอการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ 
    อย่างไรก็ดี "หมออนุตตร" ได้สรุปประสิทธิผลของการได้รับวัคซีนเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนต่อสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และเดลต้า (อินเดีย) จาก Public Health England ประเทศอังกฤษแบบเข้าใจง่ายในโพสต่อมา ว่า
    สรุปว่าการป้องกันการเกิดโควิด 19 ที่มีอาการ
    ถ้าได้โดสเดียว การป้องกันสายพันธ์เดลต้าจะลดลงมาก แต่เมื่อให้ 2 โดสแล้วการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าลดลงไม่มากนัก ยังพอไหว
    การป้องกันการนอน รพ. ถึงได้โดสเดียวก็ยังช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้ ยิ่งเมื่อได้ 2 โดสสามารถป้องกันการนอน รพ.จากสายพันธุ์เดลต้าได้มากกว่า 90%
    ประสิทธิผลในการป้องกันการเกิดโควิด 19 ที่มีอาการ และการป้องกันการนอน รพ. โดยวัคซีนไฟเซอร์ดีกว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า (อันนี้พอเปรียบเทียบกันได้เพราะทำในประชากรในเวลาเดียวกัน)

ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขสรุปการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ชนิด แอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 มิ.ย.64 จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 2,179,000 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 49,062 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :