การระดมฉีด วัคซีนโควิด-19 ยังชุลมุนต่อ แม้ในช่วงนี้จะรับมอบวัคซีนเข้ามาต่อเนื่อง คือ แอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส ซิโนแวค 1 ล้านโดส และ ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็น วัคซีนตัวเลือก 1 ล้านโดส ที่จะเริ่มฉีด 25 มิ.ย.นี้ แต่ปริมาณดังกล่าวยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้จะฉีดวัคซีน รวมถึงการนัดหมายกำหนดวันของผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ขณะที่ความหวังของผู้ต้องการฉีดวัคซีนได้เร็ว วัคซีนทางเลือกจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ขณะนี้มีความต้องการสูง แม้จะต้องจ่ายเงินเองในการฉีดวัคซีนเองก็ตาม
THG ทุ่มหมื่นล้านจองวัคซีน
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขยายเวลาให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถสั่งจอง วัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” เพิ่มได้ ล่าสุดเครือโรงพยาบาลธนบุรีได้สั่งจองวัคซีนเพิ่มอีก 5 ล้านโดส จากเดิมที่สั่งไปในครั้งแรก 5 ล้านโดส รวมเป็นการจองวัคซีนโมเดอร์นาทั้งสิ้น 10 ล้านโดส เพราะเชื่อว่ายังมีความต้องการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาอีกมาก ทั้งกลุ่มผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มแรก เข็ม 2 และ วัคซีนเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
“บริษัทเตรียมเงินไว้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท สำหรับสั่งจองวัคซีนเพราะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและคนไทยเองก็ต้องการฉีดวัคซีน ที่มีคุณภาพและสามารถป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ หากใครที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว หรือฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว สามารถฉีดเข็ม 3 เป็นบูสเตอร์ได้ทันที ซึ่งมีการศึกษาในต่างประเทศแล้วพบว่า การฉีดไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา สามารถบูสแอนตี้บอดี้ได้ 10-70 เท่า”
รองรับฉีดเข็มที่ 3
นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเลือกฉีดวัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนโมเดอร์นา เริ่มเปลี่ยนไป ผู้ที่ฉีดเข็ม 2 แล้ว ก็อยากจะฉีดโมเดอร์นา เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพราะเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ การที่อภ. ขยายเวลาในการสั่งจองวัคซีนเพิ่ม พบว่า หลายโรงพยาบาลสนใจและสั่งจองวัคซีนเพิ่มขึ้น ขณะที่เครือรพ.เมดพาร์ค ประกอบไปด้วย เครือรพ.มหาชัย รพ.เจ้าพระยา และรพ.เมดพาร์คเอง เบื้องต้นสั่งจองไป 5 หมื่นโดส และสั่งจองเพิ่มอีก 5 หมื่นโดส รวมเป็น 1 แสนโดส และกำลังจะเปิดให้ผู้สนใจจองฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลในเร็วๆนี้
“รพ.ทำการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนและพบว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนหลายหมื่นราย แต่ยังไม่ได้เปิดให้จองฉีดวัคซีนโมเดอร์นาอย่างเป็นทางการ เพราะต้องรอให้รพ. MOU กับอภ. ก่อน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนได้เร็วๆนี้”
อย่างไรก็ดีการสั่งจองวัคซีนโมเดอร์นาผ่านอภ. นี้มีข้อจำกัดที่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนที่สั่งซื้อ 100% ซึ่งราคาวัคซีนเบื้องต้นอยู่ที่ 1,200 บาทต่อโดส (รอสรุปตัวเลขอีกครั้ง) ขณะที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ประเมินราคาต้นทุนวัคซีนพร้อมค่าบริหารจัดการ รวมถึงค่าประกันวัคซีน ฯลฯ เบื้องต้นคาดว่าจะมีราคา 1,900 บาทต่อโดสหรือ 3,800 บาทต่อ 2 โดส ซึ่งราคาดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากอภ. ก่อน โดยคาดว่าจะมีการประชุมสรุปอีกครั้งในเร็วๆนี้
ยอดจองซิโนฟาร์มทะลัก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า วัคซีนทางเลือกของภาคเอกชนที่ยื่นซื้อและขอรับการจัดสรรผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่ละบริษัทต้องทำการลงทะเบียนโดยตรงกับราชวิทยาลัยฯ ซึ่งทางบริษัทจะได้รับทราบจำนวนวัคซีนที่องค์กรได้รับการจัดสรร จำนวนวัคซีนที่บริจาคเพิ่มจำนวนไม่น้อยกว่า 10% และเลือกสถานพยาบาล ที่จะเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ก็มีผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรวัคซีนในล็อตแรกนี้ไปพอสมควร จากจำนวน 1 ล้านโดสที่เข้ามาแล้ว ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมกระจายให้โรงพยาบาลที่ได้รับจัดสรรวัคซีนทางเลือก เป็นสถานบริการวัคซีนในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ต่อไป ส่วนวันที่ 25 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มวันแรกพร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การจัดสรรในระยะที่ 1 ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สำหรับในกลุ่มผู้ประกอบการ แบ่งเป็น
1.ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต จำนวน 197 องค์กร 70,572 คน
2.ภาคธุรกิจบริการด้านอุปโภคบริโภค จำนวน 920 องค์กร จำนวน 83,039 คน
3.กลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 1,726 องค์กร จำนวน 38,361 คน
4.ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนันทนาการ จำนวน 260 องค์กร จำนวน 13,087 คน
5.ภาคธุรกิจการขนส่ง และโลจิสติกส์ จำนวน 359 องค์กร จำนวน 18,982 คน
6.ภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 482 องค์กร จำนวน 51,200 คน
7.ภาคธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จำนวน 247 องค์กร จำนวน 29,686 คน
8.ภาคธุรกิจการเงิน จำนวน 193 องค์กร จำนวน 55,214 คน
9.ภาคธุรกิจสื่อสารและบันเทิง จำนวน 328 องค์กร จำนวน 12,527 คน
รวมผู้ที่จองวัคซีน 4,712 องค์กร จำนวน 372,668 คน
โรงงานไล่บี้ขอจัดสรรวัคซีน
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาชิกของทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้แจ้งขอใช้วัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวน 1.5 หมื่นโดสผ่านทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (จากจำนวนที่สมาชิก ส.อ.ท.ยื่นขอใช้วัคซีนทั้งหมด 3 แสนโดสในล็อตแรก) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎของราชวิทยาลัยฯ ที่ให้ลงทะเบียนโดยตรงล่าสุดทาง ส.อ.ท.ได้คืนเงินให้สมาชิกที่จองเข้ามาแล้ว
“ปัจจุบันสถานการณ์โควิดในภาพรวมของสมุทรสาครน่าห่วงมีผู้ติดเชื้อเป็นหลักร้อยคนต่อวัน ขณะที่การติดเชื้อในโรงงานก็มีหลายโรงงานที่มีการติดเชื้อ โรงงานหนึ่ง 5-10 คน แม้จะเป็นจำนวนต่อโรงไม่มาก แต่เวลาติดทำให้เกิดปัญหาต่อการผลิตที่ชะลอตัวเดินไม่ได้เต็มร้อย เพราะส่วนใหญ่ต้องปิดชั่วคราว ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ห่วงจะกระทบส่งออกของประเทศที่คาดการณ์จะขยายตัวปีนี้ 5-7% อาจจะไปไม่ถึง เพราะสมุทรสาคร มีสถานประกอบการโรงงานกว่า 6,000 แห่ง มีทั้งโรงงานอาหาร ห้องเย็น สิ่งทอ พลาสติก และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้แรงงานในพื้นที่โดยรวมยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เพราะรอการจัดสรรจากรัฐบาล รวมถึงจากวัคซีนทางเลือกอยู่”
ทั้งนี้ ทางหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้ยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อขอให้ทบทวนการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของจังหวัดสมุทรสาคร ไปแล้ว เนื่องจากจะได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียง 70,000 โดส จากที่ขอ 330,000 โดส
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง