29 มิถุนายน 2564 - กลุ่มธุรกิจงานแต่ง ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท Primmrose wedding , FullrichBride , Love Velvet ฯล และกลุ่มพิธีกรงานแต่งงาน เขียนจดหมายเปิดผนึก เรียนถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุใจความว่า....
ด้วย เครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจการจัดงานแต่งงาน เป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านการจัดกิจกรรม สร้างสรรค์รูปแบบ ตกแต่งสถานที่ บริการจัดเลี้ยง บริการให้เช่าสถานที่จัดงาน บริการให้เช่าและตัดชุดแต่งงาน บริการแต่งหน้าและจัดแต่งทรงผม ออแกไนเซอร์ บริการให้เช่าเครื่องเสียง วงดนตรีพิธีกรและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรังสรรงานแต่งงานให้สมบูรณ์และตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจัดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ทั่วโลก และในประเทศไทย โดยกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศข้อกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค
ตลอดจนมีคำสั่งตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 33) ข้อ 8 โดยกำหนดให้การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการโดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 50 คน กรณีเกิน 50 คน แต่ไม่เกิน 500 คน ให้ขออนุญาตโดยยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครก่อนจัดงาน
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจการจัดงานแต่งงาน และว่าที่คู่บ่าวสาว (กลุ่มลูกค้า) โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
- การสูญเสียงบประมาณของกลุ่มลูกค้าที่ได้เตรียมการจัดงานแต่งงานล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3 เดือนเกิดความกังวล ไม่มั่นใจ เพราะเกรงว่าจะมีความผิดและอาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อภายในงานส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเกือบทั้งหมด ขอเลื่อนการจัดงานแต่งออกไป ในขณะที่บางรายขอยกเลิกการจัดงาน
- ผู้ประกอบธุรกิจการจัดงานแต่งงานต้องแบกรับผลกระทบในด้านสภาพคล่อง และกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง ก่อเกิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม
- กลุ่มพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวในแวดวงธุรกิจการจัดงานแต่งงานของพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องสูญเสียรายได้ อันเนื่องมาจากการที่ธุรกิจไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เต็มรูปแบบ จึงไม่มีการจ้างงาน การให้สมัครใจใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้าง ตลอดจนต้องดำเนินการเลิกจ้างพนักงาน
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจการจัดงานแต่งงาน ต่างเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด โดยบังคับมาตรการตามประกาศดังกล่าวกับทั้งพนักงานและผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด
ในการนี้จึงขอความอนุเคราะห์เพื่อโปรดพิจารณาแนะนำแนวทางปฏิบัติที่สามารถใช้อ้างอิงสำหรับการจัดงานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงให้ความอนุเคราะห์ประสานความช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบธุรกิจการจัดงานแต่งงาน
สำหรับปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจงานแต่ง
กลุ่มธุรกิจงานแต่ง มากกว่า 70% คือเป็นบุคคลธรรมดา มีสถานะเป็น Freelance ซึ่งไม่มีงานอื่นรองรับ และ มีหลากหลายอาชีพ ที่เกี่ยวข้อง
- สถานที่จัดงานแบบ Unique Space / โรงแรม / ร้านอาหาร
- Wedding Planner
- Organizer ตกแต่งสถานที่
- ผู้รับเหมาโครงสร้าง
- ช่างดอกไม้ / ร้านขายดอกไม้ / สวนดอกไม้
- ร้านเช่าชุดงานแต่ง
- ร้านเช่า โต๊ะเก้าอี้
- Cartering จัดอาหาร
- พิธีกร / รันคิว
- ช่างภาพ /วิดิโอ/ Photobooth
- ช่างแต่งหน้า / ทำผม
- วงดนตรีงานแต่ง
ปัญหาที่ทางกลุ่มธุรกิจงานแต่งพบ
1. คำสั่งห้ามจัดงาน หรือปิดสถานที่กะทันหัน ทำให้เกิดความเสียหายจากการเตรียมงาน โดยเฉพาะของของสด สำหรับทำอาหาร และ ดอกไม้สด ซึ่งทั้งทีมงาน และบ่าวสาว ไม่สามารถรับผิดชอบได้
2. การสับสนของคำสั่งห้ามจัดกิจกรรม และการเปิดหรือปิดสถานที่ เช่นการผ่อนคลายมาตรการ ให้จัดกิจกรรม 50 ท่านได้ แต่ไม่ได้ให้เปิดสถานที่จัดเลี้ยง
3. ปัญหาจากการขออนุญาตจัดงานกับทางหน่วยงานราชการ ซึ่งเกี่ยงกันรับผิดชอบ
4. เรามีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร กับผู้มีส่วนรับผิดชอบ เราจึงอยากให้ทาง รัฐสภา ช่วยเป็นสื่อกลาง ในการประสานงาน นำเรื่องเดือดร้อนของเราไปถึงผู้มีอำนาจสั่งการ และเกี่ยวข้อง
5. เราคือผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากการปิดสถานทีจัดเลี้ยง จำกัดการจัดงาน ตั้งแต่ระลอก 1 2 และ 3 ซึ่งภาครัฐไม่ได้มองเห็นธุรกิจประเภทนี้ และไม่ได้รับการเยียวยา หรือความช่วยเหลือ
สิ่งที่เราต้องการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
1) เปิดสถานที่จัดงาน และขอผ่อนคลายมาตรการ สำหรับแขก 100-150 ท่าน โดยทางผู้จัดงานจะต้องจัดมาตรการที่เหมาะสม งดการจัดเลี้ยงแบบ โต๊ะจีน โดยอาจใช้เป็น Box Set /Individual Set / หรือ Food Station แบบอุ่นร้อน
2) ตามที่ สำนักสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม ประกาศว่า ทางประกันสังคม จะช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ม 33 กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ปรากฏว่า เมื่อมีการยื่นคำร้องไป ทางประกันสังคมแจ้งว่า ทางกลุ่มธุรกิจงานแต่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งห้ามจัดงานและปิดสถานที่
3) ผ่อนคลายมาตรการให้มีวงดนตรี Folksong หรือวงดนตรีขนาดเล็กได้ โดยมีมาตรการที่เหมาะสม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง