"อบจ.เชียงใหม่"ควัก260ล้านจอง"โมเดอร์นา"สภากาชาด200,000โดส

17 ก.ค. 2564 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2564 | 17:16 น.

อบจ.เชียงใหม่หารือผู้ว่าฯ ขานรับนโยบายทำทันที เสนอจองวัคซีนโมเดอร์นา 2 แสนโดส ฉีดให้กลุ่มเปราะบาง 5 กลุ่ม ตามเงื่อนไขของสภากาชาดไทย ประสานประธานสภาอบจ.ฯ เปิดประชุมเพื่อขออนุมัติงบ 260 ล้านจากเงินสำรองสะสม กันข้อครหาส่งมอบให้จังหวัดรับไปดำเนินการจัดฉีดเอง

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่สภากาชาดไทย เปิดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งจองวัคซีนต้านโควิด-19 โมเดอร์นา เพื่อให้นำไปบริการให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่คิดมูลค่า ตามพันธกิจของสภากาชาดไทย และแผนการฉีดวัคซีนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดนั้น
    

“ผมได้เข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการวัคซีนที่ศูนย์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอบจ.เชียงใหม่แล้ว และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็เห็นชอบตามข้อเสนอ

 

ในเบื้องต้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความประสงค์เบื้องต้นไปแล้วว่า จะจองซื้อวัคซีนจำนวน 200,000 โดส ๆ ละ 1,300 บาท รวมเป็นเงิน 260 ล้านบาท เพื่อนำไปฉีดบริการให้กับประชาชนตามเงื่อนไขที่สภากาชาดไทยกำหนด“
    

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่

นายกอบจ.เชียงใหม่ ชี้แจงต่อว่า ขณะนี้ได้ประสานประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ ให้เรียกประชุมสภาในวันที่ 19 ก.ค. 2564 เวลา 14.00 น.เพื่อขอมติจากสภาฯ ในการใช้เงินทุนสำรองสะสมของอบจ.เชียงใหม่ในการจัดซื้อวัคซีน

 

เนื่องจากหลังแจ้งความจำนงไปแล้ว อบจ.เชียงใหม่จะต้องโอนเงินให้กับทางสภากาชาดไทยภายในวันที่ 21 ก.ค.2564 ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด
    

สำหรับการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว ทางอบจ.เชียงใหม่เป็นผู้ใช้งบประมาณของอบจ.มาดำเนินการ ส่วนการจัดสรรวัคซีนนั้น ต้องเป็นไปตามที่สภากาชาดไทยกำหนดเงื่อนไข คือ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ได้แก่ 
    กลุ่มแรก คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน กลุ่มที่สาม บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลในถิ่นทุรกันดาร

 

กลุ่มที่สี่ คือ ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และบุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และ กลุ่มที่ห้า บุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย
    

นายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่สั่งซื้อ 200,000 โดสนั้น อาจจะไม่ครอบคลุมกับจำนวน 5 กลุ่มที่มีอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ได้เสนอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการบริหารวัคซีน เป็นผู้พิจารณาจัดสรร 
    

"เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา ว่าอบจ.จะนำวัคซีนดังกล่าวมาฉีดให้กับเครือญาติหรือพวกพ้อง จึงให้จังหวัดเป็นผู้บริหารแผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน ไม่เกี่ยวกับทางอบจ.เชียงใหม่ แต่ขอยืนยันว่าอบจ.เชียงใหม่ขานรับแนวทางที่สภากาชาดไทยเสนอมาทันที เพราะตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนทุกๆ คน"นายก อบจ.เชียงใหม่ ย้ำ