ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงรายละเอียดรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิดซิโนฟาร์ม โดยระบุว่า
ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนในการรายงานจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิดซิโนฟาร์มทั่วประเทศ 67,992 รายนั้น ร้อยละ 97 ไม่พบอาการผิดปกติ
การเกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น พบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ระหว่างรอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน เพียง 100 รายจากทั้งหมด 67,992 รายที่รับวัคซีน คิดเป็น 0.1% เท่านั้นที่มีอาการไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาทีหลังรับวัคซีน และอาการที่พบบ่อยได้แก่ เวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ทุกรายมีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง
การรายงานอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนซิโนฟาร์ม 1 วันนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดส่ง sms รายงานอาการไม่พึงประสงค์แก่ผู้รับบริการวัคซีน เพื่อติดตามความปลอดภัย อาการข้างเคียงได้อย่างทันท่วงที พบว่ามีผู้ตอบ sms จำนวน 17,154 ราย คิดเป็น 25% ของผู้รับบริการวัคซีน
ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ในจำนวนผู้ที่รายงานว่ามีอาการผิดปกตินั้น พบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย ได้แก่
ปวดศรีษะ (2.3%)
อ่อนเพลีย (1.7%)
ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (1.7%)
ปวด บวมบริเวณที่ฉีดยา (1.6%)
ไข้ (1.5%)
ซึ่งสอดคล้องกับผลการรายงาน evidence assessment: Sinopharm/BBIBP COVID-19 vaccine ของ WHO : ที่รายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยได้แก่ ปวดบริเวณที่ฉีดยา ปวดศรีษะและอ่อนเพลีย
การรักษาพยาบาลนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของผู้รับบริการวัคซีนทุกราย ในกระบวนการรับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้นจะมีประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่เกิดขึ้น สามารถเคลมประกันเข้ารับการรักษาได้โดยง่าย จากรายงานบริษัทประกันพบว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนแล้วขอเคลมประกันรักษาพยาบาลอาการไม่พึงประสงค์โดยรับการรักษาในรพ จำนวน 8 ราย ซึ่งขณะนี้ขอเน้นย้ำว่า "ยังไม่มีการรายงานอาการรุนแรงจากการรับวัคซีนซิโนฟาร์มเลย"
การรายงานอาการที่เกิดขึ้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รายงานทุกเหตุการณ์ด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการรับบริการวัคซีนซิโนฟาร์ม
ดังนั้นจึงรายงานอาการไม่พึงประสงค์โดยพบผู้ป่วยโรคลมชักและเบาหวานชนิดพึ่งอินสุลิน 1 ท่าน มารับบริการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น พบมีอาการชัก ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณได้ให้การรักษาและตรวจวินิจฉัยด้วย CT Scan ,MRI และ MRA สมองนั้น ไม่พบความผิดปกติในสมอง การวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท วินิจฉัย pseudoseizure ซึ่งได้รับการรักษาและผู้ป่วยอาการกลับเป็นปกติ กลับบ้านได้
ขอให้ประชาชนผู้รับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้มั่นใจว่าวัคซีนซิโนฟาร์มมีความปลอดภัยสูง อาการไม่พึงประสงค์พบเป็นเพียงอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงเลยจากการฉีดวัคซีนทั้งหมด 67,992 ราย