วัคซีน "Pfizer"-"Moderna"ดื้อต่อโควิดสายพันธุ์ Epsilon

05 ก.ค. 2564 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 17:34 น.

หมอเฉลิมชัย เผยข้อมูลงานวิจัยพบวัคซีน Pfizer และ Moderna ดื้อต่อโควิดสายพันธุ์ Epsilon มากว่าสายพันธุ์ Alpha และพอๆกันกับ Beta ระบุสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และแพทย์

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Epsilon ดื้อต่อวัคซีน mRNA ของบริษัท Pfizer และ Moderna มากกว่าสายพันธุ์ Alpha และพอๆกันกับ Beta 
สถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกนั้น มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยสองประการด้วยกัน คือ
1.การกลายพันธุ์ของไวรัส โดยขณะนี้ มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แบ่งได้เป็นสามกลุ่ม
1.1 ไวรัสที่น่าเป็นกังวล (VOC) มี 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย อัลฟ่า เบต้า แกมมา เดลต้า
1.2 ไวรัสที่ควรสนใจ(VOI) มี 7 สายพันธุ์
1.3 ไวรัสที่กลายพันธุ์ แต่ไม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ
อักษร Epsilon
ไวรัส Epsilon ค้นพบว่าแพร่หลายอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา

2. วัคซีน ซึ่งมีหลายเทคโนโลยีและหลายบริษัท ประกอบด้วย
2.1 เทคโนโลยีเชื้อตาย เช่น วัคซีนของบริษัท Sinovac และ Sinopharm
2.3 เทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ เช่น วัคซีนของบริษัท AstraZeneca  Johnson & Johnson และ Sputnik V
2.3 เทคโนโลยี mRNA  เช่น วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna
2.4 เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน เช่น
วัคซีนของบริษัท Novavax เมื่อจับคู่ไวรัสชนิดต่างๆกับวัคซีนหลากหลายชนิด ก็จะพบประสิทธิผลที่จะป้องกันโรคได้แตกต่างกัน ทั้งในระดับป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการป่วยมีอาการหนัก และป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งในขณะนี้ ตัวเลขเบื้องต้นดูจะออกมาในลักษณะ วัคซีนเทคโนโลยี mRNA จะมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดื้อน้อยกว่าเทคโนโลยีอื่น

ไวรัส Epsilon
ชนิดของไวรัสนั้น พบว่า ขณะนี้สายพันธุ์เบต้าดื้อวัคซีนมากที่สุด ส่วนสายพันธุ์เดลต้าแพร่เชื้อเร็วที่สุด USCDC ได้กำหนดให้มีไวรัสที่น่ากังวลเพิ่มขึ้นใหม่คือ สายพันธุ์ Epsilon และเริ่มมีแนวโน้มว่ามีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว และดื้อแต่วัคซีนมากด้วย จึงมีการศึกษาในเบื้องต้นเพื่อดูว่าไวรัสสายพันธุ์ Epsilon จะดื้อต่อวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA มากน้อยเพียงใด
โดยการศึกษานั้น ใช้เลือดจากคนที่ฉีดวัคซีน Pfizer และ Moderna ครบสองเข็ม (30ราย) แล้วตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ พบว่าไวรัสสายพันธุ์
อัลฟ่าดื้อน้อยที่สุด 1.3 เท่า
สายพันธุ์แกมมาดื้อ 1.7 เท่า
สายพันธุ์ Epsilon ดื้อ 2.9 เท่า
สายพันธุ์เบต้าดื้อมากที่สุด 3.2 เท่า
และในกลุ่มที่ใช้เลือดของผู้ที่หายจากการติดเชื้อแล้ว (9ราย) ก็พบว่ามีแนวโน้มการดื้อไปในทิศทางเดียวกันคืออัลฟ่า 1.9 เท่า
แกมมา 3.3 เท่า
เอปซิลอน 3.4 เท่า
เบต้า 4.4 เท่า

โดยประวัติการเกิดขึ้นของไวรัส Epsilon เรียงลำดับ ดังนี้
พฤษภาคม 2563 เริ่มปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก
มิถุนายน 2563 เริ่มแยกเป็นสองสายพันธุ์ย่อย
ต้นปี 2564 พบในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนีย
กุมภาพันธ์ 2564 พบมากกว่า 50% ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
พฤษภาคม 2564 แพร่กระจายไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลก
โดยไวรัสสายพันธุ์ Epsilon มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า B.1.427/B.1.429
ไวรัส Epsilon มีการ กลายพันธุ์ที่สามตำแหน่งด้วยกันคือ S13I  , W152C , L452R การกลายพันธุ์ในตำแหน่งทั้งสาม ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น  และมีการดื้อต่อวัคซีนมากขึ้น ทำให้วัคซีนมีประสิทธิผลน้อยลง 
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ (แม้ข้อมูลจะเป็นจำนวนน้อย) แต่ก็สร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์และคุณหมอทั้งหลายว่า แม้จะเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ไวรัสสายพันธุ์นี้ ก็ยังดื้อต่อวัคซีนค่อนข้างมาก
โควิด-19 กับมนุษยชาติ จึงเป็นศึกที่ยืดเยื้อเรื้อรัง แม้ผ่านมาหนึ่งปีครึ่งแล้ว เรามีความรู้เกี่ยวกับโรค และตัวไวรัสมากขึ้น พัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะไวรัสได้อย่างเด็ดขาด
นอกจากนั้นไวรัสยังมีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้การควบคุมโรคระบาดยุ่งยากมากขึ้น รวมถึงวัคซีนก็เริ่มดื้อ ใช้ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ใหม่ได้น้อยลง คงจะต้องติดตามเรื่องเกี่ยวกับไวรัส วัคซีน และโรคภัยไข้เจ็บโควิด-19 กันต่อไปอีกนานนับปีเลยทีเดียว