"Phuket Sandbox" หมอนิธิพัฒน์ห่วงเปิดช่องนำโควิดกลายพันธุ์เข้าประเทศ

02 ก.ค. 2564 | 02:42 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 09:44 น.

หมอนิธิพัฒน์ห่วงโครงการ Phuket Sandbox จะเป็นการนำเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เข้าประเทศ ระบุใครจะเป็นกรรมการตัดสินโครงการว่าควรไปต่อหรือไม่โดยไม่โอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า 
วันนี้เป็นวันแรกของ Phuket Sandbox ตามนิยามแล้ว sandbox หรือ กระบะทราย ถูกให้ความหมายจาก https://www.thansettakij.com › strategy ว่าใช้กันมาตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเมื่อกว่า 50 ปีแล้ว โดยโปรแกรมเมอร์จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัดขาดจากระบบกลางเพื่อทดสอบโค้ดหรือโปรแกรมที่กำลังพัฒนา ไม่ให้ข้อมูลปะปนกันหรือส่งคำสั่งที่ขัดแย้งจนสร้างความเสียหายกับฮาร์ดแวร์ในส่วนอื่น ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ 
หลายคนทั้งในและนอกพื้นที่ภูเก็ต ยังมีความเป็นห่วงอยากให้โครงการนี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทำอย่างไรจึงจะควบคุมให้ชาวต่างชาติที่เริ่มมาเยือนภูเก็ตจะอยู่ในกรอบมาตรการที่กำหนด และถ้าโชคร้ายเกิดมีคนนำเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาจะตรวจจับให้เร็วได้อย่างไร สำหรับคนในพื้นที่เองที่ยังฉีดวัคซีนกันไม่ครบตามเป้า 70% จะเร่งระดมกันอย่างไร ส่วนคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาทำงานเพื่อช่วยให้ระบบไปต่อได้ จะมีวิธีการดูแลไม่ให้แพร่เชื้อและไม่ให้ป่วยจากโควิดได้อย่างไร ในกรณีถ้ามีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นทั้งจากชาวต่างชาติและคนไทย ระบบสาธารณสุขในพื้นที่จะรองรับได้แค่ไหน และใครจะเป็นกรรมการผู้เคาะระฆังว่าหมดยกต้องพักชั่วคราวถ้าเริ่มไปไม่ไหว โดยกรรมการจะต้องเที่ยงธรรมและไม่เอนเอียงไปตามกระแสกดดันจากฝักฝ่ายต่างๆ รอบตัว ท้ายสุดจะทำอย่างไรให้คนอื่นนอกเขตทดลองไม่อิจฉาเพราะประโยชน์ไปไม่ถึงตัว แล้วไปคว่ำกระบะทรายทิ้งเสียก่อนเวลาอันควร
วันนี้หลังราวด์ภาพรวมเสร็จ ได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการน้อยและปริมาณเชื้อน่าจะน้อย (ค่า ct ระหว่าง 30-35) จึงแต่ง PPE ชุดเล็กดังรูปเทียบกับชุดใหญ่ที่ยืนขนาบข้าง (สองคนด้านข้างเข้าเยี่ยมผู้ป่วยห้องอื่นที่เชื้อน่าจะยังมากอยู่และต้องมีการทำหัตถการด้วย) เพื่อเป็นการประหยัดและลดขยะย่อยสลายยากล้นโลกภายหลัง บุคลากรที่มาทำงานโควิดควรซักซ้อมการใช้ PPE ให้คล่องแคล่วและรัดกุม ที่สำคัญคือต้องระวังมากเวลาถอดซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อที่ปนเปื้อนบนชุด ซึ่งถ้าไม่แน่ใจต้องมีพี่เลี้ยงคอยช่วยบอกบทไม่ให้ทำพลาด

ผู้ป่วยอาวุโสวันนี้หน้าตาสดใสขึ้น กินได้ ไม่เหนื่อย แต่บ่นนอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้สูงอายุที่มาอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย หลังจากพูดคุยซักถามเรื่องความคืบหน้าการเจ็บป่วยแล้ว จึงเหลือเวลาพูดคุยเรื่องอื่นๆ เพื่อช่วยให้คลายกังวล ผู้ป่วยจับมือผมไว้และเล่าเรื่องราวที่ภาคภูมิใจในอดีตด้วยแววตาที่สดใส เมื่อสนใจซักถามเพิ่มเติมทำให้การสนทนาออกรส รู้สึกว่ามือผมถูกกำแน่นขึ้นเหมือนจะยึดให้อยู่รอฟังนานๆ อย่ารีบไปไหน รวมเวลาแล้วเกือบครึ่งชั่วโมงที่ผมเป็นผู้ฟังที่ดีและแสดงออกให้เกียรติคู่สนทนาเป็นระยะๆ  หวังว่าการรักษาด้วยน้ำลาย (saliva therapy) นี้จะช่วยลดการใช้ยาควบคุมอาการ และที่คาดหวังมากคือกระตุ้นการฟื้นตัวทางด้านจิตใจของผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุด

มาตรการโควิด-19
สำหรับเตียงไอซียูโควิดที่เรามีจำกัด เมื่อวานเราสละให้กับแรงงานต่างชาติที่มาถึงโรงพยาบาลก็แย่เลย วันนี้เราเคลียร์มาได้เพิ่มอีกหนึ่งเตียง จึงช่วยรับผู้ป่วยจากรพ.สนามภายนอกศิริราช ที่ตอนรับเข้าไปยังดีๆ อยู่ แล้วแย่ลงเรื่อยๆ แต่หารพ.หลักส่งกลับเข้ามาไม่ได้ จนในที่สุดต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจในระหว่างรอการส่งตัวออกมา ซึ่งนอกจากผู้ป่วยและญาติจะลุ้นสุดตัวแล้ว แพทย์และพยาบาลหน้างานคงใจสั่นไม่แพ้กันหรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาคงไม่อยากสูญเสียผู้ป่วยไปในมือของเขาหรือในเวรของเขา
ยามศึกเรารบ ยามสงบเราต้องกินตุนเอาไว้ เพราะวันต่อๆ ไปอาจไม่ว่างกินได้เต็มที่ มื้อเที่ยงวันนี้เลี้ยงลูกทีมด้วยก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่สวนมะลิ 
#ปฐมบทศึกโควิดระลอกสี่ #จับตาตัวชี้วัดล็อคดาวน์ #อิตาลีแชมป์ยูโร2020
สำหรับ Phuket Sandbox นั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลงพื้นที่ตรวจด่านท่าฉัตรไชย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามโมเดล Phuket Sandbox (ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์) 
ทั้งนี้ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เป็นรูปแบบการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ฉีดวัคซีนแล้วเข้าภูเก็ต ทุกด่านเข้าจังหวัดภูเก็ต ได้เตรียมพร้อมในการตรวจคัดกรองคนเดินทาง ตามมาตรการการเดินทางเข้าภูเก็ตไว้เรียบร้อยแล้ว
เริ่มจากการเดินทางเข้าภูเก็ตทางบก  ณ ด่านท่าฉัตรไชย รัฐบาลได้ให้การสนับสนุน  เครื่องมือและอุปกรณ์สาธารณสุขและเทคโนโลยี  เพื่อใช้ในการตรวจคนเข้า-ออก  ซึ่งจะต้องมีการตรวจโรคด้วย ในส่วนของกำลังพลเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต มทบ.41  DEPA  ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และ แรงงานจังหวัดภูเก็ต 
ด่านท่าฉัตรไชย การเดินทางทางอากาศ สนามบินภูเก็ต พร้อมรองรับสำหรับฝั่งขาเข้าจากต่างประเทศ ผู้โดยสารจะเข้าสู่ตัวอาคารที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยต้องทำการตรวจคัดกรองเบื้องต้น วัดอุณหภูมิร่างกาย จากนั้นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทำการตรวจเอกสารตามเงื่อนไขที่จังหวัดภูเก็ตกำหนด อาทิ Vaccine Certificate, กรมธรรม์ประกันภัยครอบคลุมโควิด, เอกสารการจองโรงแรมที่พัก มาตรฐาน SHA PLUS , ใบรับรองผลการตรวจโควิด-19 และนักท่องเที่ยวต้องดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Thailand Plus และหมอชนะ
เมื่อเสร็จสิ้น จะเข้าสู่พิธีการตรวจคนเข้าเมือง รับสัมภาระ ผ่านศุลกากร ไปยังจุด Swap หาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR ก่อนจะขึ้นรถไปยังโรงแรมที่พัก SHA PLUS เพื่อรอผลการตรวจโควิด-19 ภายใน 24 ชั่วโมง

หากผลเป็นลบจึงจะสามารถออกเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตได้ แต่หากพบว่า ผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เป็นบวก นักท่องเที่ยวจะต้องถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ความพร้อมท่าเทียบเรือสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ก็มีโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นโครงการที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการนำเสนอพัฒนาจัดการท่าเรือ ณ ท่าเทียบเรือวิสิษฐ์พันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเล ระบบการจัดการความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว (Tourism Safety Support And Management System)
โดยสามารถทราบข้อมูลและจำนวนผู้โดยสารในเรือแต่ละลำ เก็บภาพ VDO ของผู้โดยสารเพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวพร้อมการคัดกรองและติดตามโรคระบาด
โครงการท่าเรืออัจฉริยะดังกล่าวประกอบไปด้วย
1.ระบบการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเล ประกอบด้วย การซื้อตั๋วหรือทัวร์ผ่านเอเย่นต์ ทำการลงทะเบียนด้วยบัตรประจำตัว เช่นพาสปอร์ต บัตรประชาชนบันทึกภาพบัตรประจำตัวเพื่อใช้อ้างอิง และนำ booking voucher มาที่ท่าเทียบเรือเพื่อผูกกับ wristband ประจำตัวเพื่อใช้เข้าออก ข้อมูลเก็บขึ้น Cloud NT
2.ระบบการใช้ Wristband (RFID) หรือ Smart Watch แทนบัตรผ่านทาง เพื่อเข้าออกท่าและขึ้นลงเรือ และสามารถใช้เป็น กระเป๋าเงินอิเลคทรอนิคส์ได้ในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวลงทะเบียนแล้ว ทำการแจกริสแบนด์เพื่อใช้แทนบัตรประจำตัวใช้ประโยชน์ในการผ่านเข้า-ออกท่าเรือ ตรวจสอบอุณหภูมิผิดปกติ การสวมใส่หน้ากากใช้บันทึกการขึ้นลงเรือก่อนการเดินทางสามารถตรวจสอบทะเบียนการเดินทางของนักท่องเที่ยวทุกคนได้ 
3.ระบบ CCTV บันทึกข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเข้าออกท่าเรือ จับภาพมุมกว้างนักท่องเที่ยวที่เดินทางในท่าเรือเพื่อดูภาพรวมและบันทึกข้อมูลอ้างอิงและวิเคราะห์ 
เช็คได้ที่นี่“PHUKET SANDBOX ”สรุปทุกข้อมูลเข้าภูเก็ตทั้งคนไทย-ต่างชาติ 4.ระบบการติดตามเรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางทะเล และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณนักท่องเที่ยวขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน Safety (SOS) ระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ Control and Command Center สามารถรู้ตำแหน่งและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ระบบจอภาพแสดงผล ณ ศูนย์ปฏิบัติ (Network Operation Center NT) ทำหน้าที่ประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบการออกเรือท่องเที่ยวในแต่ละวัน ประสานศูนย์ช่วยเหลือในพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่ามภาษาต่างๆ ตามจุดประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลสำคัญ เพื่อช่วยเหลือและประสานงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ทันท่วงที