รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไวรัสเดลตา (Delta) แพร่รวดเร็วกว่าที่คิดไว้มาก ขณะนี้ครองกรุงเทพฯไปแล้ว 57.1% และครองการติดเชื้อเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศคือ 46.1%
มีคำถามที่หลายท่านสงสัย ว่าทำไมสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สามของประเทศไทย จึงมีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะในประเด็นของผู้ติดเชื้อ ที่รวดเร็วและกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ถ้าเทียบกับระลอกที่สอง มากกว่าถึง 13 เท่าตัว ( 24,863 ราย : 334,166 ราย)
คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ
ไวรัสที่กำลังระบาดในระลอกที่สามนี้เป็นคนละสายพันธุ์กับที่เคยระบาดในระลอกที่หนึ่งและระลอกที่สอง ไวรัสที่ระบาดในระลอกที่หนึ่งกับสองได้แก่ไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมหรือสายพันธุ์อู่ฮั่นประเทศจีน แต่ในระลอกที่สาม ช่วงแรกเป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าของอังกฤษ และตามมาด้วยไวรัสสายพันธุ์เดลต้าของอินเดีย
ลำพังสายพันธุ์อัลฟาก็มีความสามารถในการแพร่เชื้อเพิ่มมากกว่าสายพันธุ์เดิมอยู่แล้วถึง 70% ส่วนไวรัสสายพันธุ์เดลตา ก็มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเพิ่มขึ้นไปอีก 60% หรือมากกว่าสายพันธุ์หลักเดิมกว่า 100%
ถ้าเทียบความสามารถของการแพร่ระบาด จะพบว่าสายพันธุ์เดลต้ามีความสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วรุนแรงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่ามากทีเดียว ดูจากสถิติที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวบรวมไว้จากการตรวจยีนส์หรือจีโนมของไวรัสที่พบในผู้ติดเชื้อรายใหม่ของแต่ละสัปดาห์ จะพบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากมาย ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ดังนี้
1 เม.ย.-20 มิ.ย. 2564
พบอัลฟา 89.0%
เดลตา 10.4%
21 มิ.ย.-27 มิ.ย. 2564
พบอัลฟา 80.2%
เดลตา 16.6%
28 มิ.ย.-2ก.ค. 2564
พบอัลฟา 65.1%
เดลตา 32.2%
3-9 ก.ค. 2564
พบอัลฟา 51.8%
เดลตา 46.1%
จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน ไวรัสเดลตาได้เพิ่มจาก 10.4% เป็นมากถึง 46.1% ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก ถ้าดูเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร พบสายพันธุ์เดลต้าถึง 57.1% ในการเก็บตัวอย่างช่วงวันที่ 3-9 กรกฎาคมและอัลฟ่าตกลงไปเหลือเพียง 42.9%
ในส่วนภูมิภาค พบเดลตา 22.9% และอัลฟา 70.5%
สถิติดังกล่าวนี้ จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตามีความสามารถในการแพร่ระบาดรวดเร็วและกว้างขวาง มากกว่าอัลฟ่ามาก และสามารถเบียดขึ้นครองตำแหน่งเป็นสายพันธุ์หลักในกรุงเทพได้แล้ว โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน
คาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของประเทศไทยภายในอีกไม่เกินหนึ่งเดือนข้างหน้านี้
มาตรการต่างๆที่ใช้ในการรับมือในการควบคุมการแพร่ระบาด จึงไม่สามารถใช้ฐานคิดหรือประสบการณ์เดิม ที่เคยใช้ได้ผลในระลอกที่หนึ่งและระลอกที่สองได้อีกต่อไป ทั้งมาตรการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน มาตรการเคอร์ฟิวบางเวลาบางพื้นที่มาตรการเปิดร้านค้าตลาดหรือกิจการบางอย่าง มาตรการขอความร่วมมือให้ลดการเดินทาง มาตรการลดการรวมกลุ่มกัน ล้วนแต่ไม่สามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้
เพราะเมื่อศัตรูหรือไวรัส เป็นคนละตัวกันและเก่งขึ้นมาก มาตรการต่างๆจึงต้องเข้มข้นมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยจึงจะสามารถรับมือได้ทัน
การประกาศล็อกดาวน์เข้มงวด ( Strict Lockdown ) ที่รัฐบาลกำลังเตรียมการประกาศ จึงเป็นความหวังที่มีความจำเป็นอย่างมาก จะต้องเร่งประกาศออกมาโดยเร็ว และที่ต้องพูดต้องย้ำกันทุกครั้งก็คือ ต้องวางแผนวางระบบในการออกมาตรการเยียวยารองรับผลกระทบของการล็อกดาวน์เข้มงวด เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เหลือน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งก็คงจะยังเหลือผลกระทบมากพอสมควรทีเดียว
ส่วนเรื่องกรณีของวัคซีน ก็จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ไปรออยู่ที่ปลายปีนี้ และเร่งควบคุมการระบาดด้วยมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงนี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ยังไม่นับถึงกรณี มีไวรัสกลายพันธุ์ไปจากสายพันธุ์เดลตา และมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้มากหรือดื้อต่อวัคซีนทุกชนิดของรุ่นที่หนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาต้องใช้วัคซีนรุ่นที่สอง ที่สามารถรับมือกับไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่นั้นได้
มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆทั่วโลก จึงอยู่ที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์จะเป็นผู้กำหนดว่ามนุษย์จะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่มนุษย์เป็นผู้กำหนดอีกต่อไป
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 19 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 11,784 ราย
สะสมระลอกที่สาม 386,307 ราย
สะสมทั้งหมด 415,170 ราย
ตรวจในระบบบริการ 8997 ราย
ตรวจเชิงรุก 2677 ราย
ตรวจพบในเรือนจำ 100 ราย
ตรวจในสถานกักตัว 10 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5741 ราย
สะสม 289,870 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3328 ราย
สะสมทั้งหมด 3422 ราย