นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุม จัดหาวัคซีนปี 2565 จํานวน 120 ล้านโดสที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หารือร่วมกับผู้แทนนําเข้าวัคซีนโควิด 19 จํานวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จํากัด ผู้นําเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า, บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ผู้นําเข้าวัคซีนไฟเซอร์ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด ผู้นําเข้าวัคซีนโมเดอร์นา, บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จํากัด ผู้นําเข้า วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, บริษัท ไบโอจีนเทค จํากัด ผู้นําเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนของบารัต และองค์การ เภสัชกรรม (อภ.) ผู้นําเข้าวัคซีนซิโนแวค ว่า
กรอบการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ในปี 2564 จํานวน 100 ล้านโดส ขณะนี้มีการเซ็นสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วันนี้ลงนามสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และสั่งซื้อ วัคซีนซิโนแวคมีแผนนําเข้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อีกราว 19 ล้านโดส ถือว่านําเข้าได้แล้ว 100 ล้านโดส แต่ยังมี วัคซีนจากหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกันนําเข้า เช่น วัคซีนซิโนฟาร์มโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทําให้ประเทศไทยสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมในภาวะความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนที่มีจํานวนมาก
สําหรับปี 2565 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้ โดยเชิญ ผู้แทนนําเข้าวัคซีนทั้ง 6 รายมาหารือ ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี ทั้ง mRNA ไวรัลเวคเตอร์ และเชื้อตาย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งความต้องการวัคซีน 120 ล้านโดส ในปี 2565 และเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับ การกลายพันธุ์ได้ ซึ่งผู้แทนวัคซีนทั้ง 6 ราย ได้รายงานความก้าวหน้าในวัคซีนที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยเฉพาะการพัฒนา ปรับปรุงวัคซีนรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น และระบบการซัพพลายมีแนวโน้มเป็นอย่างไร จะจัดหาได้ในช่วงไหน จํานวนที่จะเจรจาซื้อขายได้ในปี 2565 รวมถึงทําความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่ เช่น การกระตุ้นบูสเตอร์โดส ซึ่งแต่ละฝ่ายจะนําข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาหารือและเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไป โดยจะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ
นอกจากนี้ องค์การเภสัชกรรมยังได้นําผลการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตายที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ ผ่านการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์แล้ว และกําลังจะเริ่มการทดลองระยะที่ 2 มารายงานความก้าวหน้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ถ้าจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศเองได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถ ต่อสู้กับเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ โดยต้องรอการศึกษาประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์อีกครั้ง สําหรับการจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่น เช่น โปรตีนซับยูนิต ยังไม่ได้เข้ามาหารือในวันนี้ แต่จะมีการติดต่อหารือเป็นลําดับถัดไป