อนาคต AJA สะเทือน ราคาหุ้นรูดติดดินกว่า 92% เหลือ 0.19 บาท นักลงทุนรายย่อยเจ๊งระนาว ทิศทางธุรกิจไม่ชัด ขาดบอร์ดบริหาร หลัง ก.ล.ต. ฟันแพ่งยกก๊วน 40 ราย ข้อหาปั่นหุ้น ปรับ 1.7 พันล้านบาท โบรกฯแนะติดตามใกล้ชิด ลดความหวัง
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ AJA (ชื่อเดิมก่อนมิถุนายน 2560 คือ บมจ.คราวน์ เทค แอดวานซ์ หรือ AJD)โดยสั่งปรับ นายอมร มีมะโน ผู้ถือหุ้นใหญ่ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมพวกรวม 40 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวนายอมร เป็นเงินทั้งสิ้น 1,727.38 ล้านบาท
ในความผิดฐานร่วมกันสร้างราคาหุ้น AJD ในช่วงระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 เป็นเวลา 100 วัน ทำให้ราคาปิด หุ้น AJD จากหุ้นละ 2.60 บาท เพิ่มเป็นราคา 15.00 บาท
หุ้น AJD เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ SET วันแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ราคาไอพีโอ 2.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท เสนอขายจำนวน 100 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 250 ล้านบาท ราคาหุ้นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ปิดที่ 3.46 บาท โดยราคาหุ้นเคยขึ้นไปถึงสูงสุดที่ 15.60 บาท เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และแตกมูลค่าพาร์จาก 0.50 บาทเป็น 0.10 บาทในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557
โดยราคาหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกปี 2561 แกว่งตัวในช่วง 0.50-0.60 บาท ในครึ่งปีหลังราคาอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวในช่วง 0.35-0.40 บาท และลดลงไปสู่ระดับตํ่าสุดที่ 0.26 บาท เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ราคาหุ้นปรับลดลง 92.48% จากวันแรกที่เข้าทำการซื้อขาย ก่อนที่ต้นปี 2562 ราคาหุ้น AJA ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.19-0.21 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ ช่วงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 (ก่อน AJD จดทะเบียนในตลาดฯ) ถึงปัจจุบัน พบว่าครอบครัวนายอมร ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น AJD ลงอย่างต่อเนื่อง โดยนายอมร จากที่ถืออยู่ 15.11% ปัจจุบันถือ 11.70% , นางสาวจินดา มีมะโน จากผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ถือ 9.90% ปัจจุบันถืออยู่ 2.45%, นางณษิกา มีมโนนันท์ ถือหุ้นอันดับ 3 สัดส่วน 7.50% ขายออกปัจจุบันเหลือ 4.62% และนายพิภัทร ปฏิเวทภิญโญ จากที่ถือ 6.67% ปัจจุบันถืออยู่ 4.45% ส่วนใหญ่เป็นการขายหุ้นออกในช่วงก่อนวันที่ 20 มกราคม 2558 ซึ่งราคาหุ้น AJD (วันที่ 1 -20 มกราคม 2558) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.49 บาท สูงสุดที่ 5.25 บาท และตํ่าสุดที่ 3.98 บาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่รูดตํ่ากว่าราคาไอพีโอที่ 2.50 บาท มาอยู่ที่ 0.19 บาท สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพะรายย่อยที่มีจำนวนถึง 10,998 ราย (สัดส่วน 67.67%) ขณะที่ด้านธุรกิจของบริษัทก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นางสาวพัทธยา โง้วสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน AJA ถึงทิศทางบริษัทหลังจากนี้ ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า บริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างการบริหาร ต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการ ซึ่งคาดจะมีความชัดเจนหลังกลางเดือนนี้ หลังจากที่ก.ล.ต.มีคำสั่งให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ คือ นายอมร มีมะโน และ 2 กรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายพิภัทร์ ปฏิเวทภิญโญ และนางณษิกา มีมโนนันท์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2561 เนื่องจากเข้าข่ายคุณสมบัติขาดความน่าไว้วางใจ
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของ AJA ปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดีมากนัก มีเพียงธุรกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจเดิม ไม่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำเข้าของธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) แต่เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงได้มีการขายออกไปให้กับนักลงทุนอื่น ทำให้บริษัทเหลือแค่จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันสูงและถึงจุดอิ่มตัว ทั้งนี้นักลงทุนต้องติดตามการเปลี่ยนแปลง และลดความคาดหวังลง
ล้อมกรอบ
AJD ก่อตั้งเมื่อปี 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจนำเข้า และจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2557 และเริ่มรู้จักกันมากขึ้น จากสโลแกน “AJ พระเอกตัวจริง” จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ยี่ห้อ AJ ก่อนจะขยายสินค้าใหม่ “กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล (Set Top Box)” ตามมาด้วยธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจบริการตู้ขายนํ้าอัตโนมัติ และที่สร้างความฮือฮาคือการรุกสู่ธุรกิจ “ตู้เติมเงิน” ภายใต้ชื่อ “เอเจเติมสบาย” รวมถึงธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการตั้ง บจก.ยูไท กรุ๊ป(YTG) เพื่อส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศจีน แต่ธุรกิจยังเพิ่งเริ่มต้นไม่สามารถจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจหลักตามที่บริษัทหวังไว้
ผลประกอบการปี 2559 บริษัทมีรายได้ 2,558 ล้านบาท กำไรสุทธิ 355 ล้านบาท มาปี 2560 รายได้ลดฮวบเหลือ 682 ล้านบาท พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 410 ล้านบาท และในงวด 9 เดือนปี 2561 มีรายได้ 600 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 5 ล้านบาท โดยรายได้ที่เข้ามาส่วนหนึ่งมาจากรายการพิเศษมาจากการตัดจำหน่ายหุ้นที่ถือในบริษัท เวนดิ้งคอร์ปอเรชั่นฯ จำกัด (บจก.) หรือ VDC และบจก.สยามแอดวานซ์ อีิเลคทรอนิค (SAE) เป็นรายได้รวม 183 ล้านบาท
หน้า17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,433 วันที่ 6-9 มกราคม 2562