การแข่งขั้นปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หรือ digital lending ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ทยอยอนุมัติให้ 5 ธนาคารจาก 10 ธนาคารที่อยู่ในกระบวนการทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของลูกค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(e-KYC)ออกจากสนามทดสอบ(Regulatory Sandbox) ขณะที่ในต้นปี 2563 ธปท.เตรียมเปิดให้ธนาคารที่เหลือ หรือบริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์เข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเชื่อมข้อมูลระหว่างกันจนมีความปลอดภัยและถูกต้องก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ล่าสุดบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด(NDID)ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)แสดงความสำเร็จจากความร่วมมือการใช้ e-KYC ของประเทศไทยระหว่างสมาชิกกว่า 30 บริษัทร่วมทดสอบโครงการ National Digital ID หรือ NDID
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของ Digital Lending จำนวนผู้ใช้บริการโมบายแบงกิ้งแอพพลิเคชันที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่หันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม และมีส่วนร่วมใน social network มากขึ้น ทำให้ธนาคารสามารถเข้าใจถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเอื้อต่อการเติบโตของ Digital Lending
ส่วนปัจจัยลบคือ จำนวนคู่แข่งที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของภาคธนาคารและ FinTech อื่นๆ ที่ต่างหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจ digital lending มากขึ้น
SCBตั้งเป้า 8 หมื่นล้าน
สำหรับปี 2563 ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าสินเชื่อ digital lending ไว้ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมายอดการปล่อยสินเชื่อ digital lending ของธนาคาร ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย สัดส่วนลูกค้าที่ขอสินเชื่อ digital lending มีมากกว่า 25% ของจำนวนลูกค้าที่ขอสินเชื่อใหม่ในปีนี้ รวมถึงลูกค้าเก่ามีการใช้วงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2562 จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 45,000 ล้านบาท ด้านคุณภาพสินเชื่อภายหลังอนุมัตินั้นด้อยกว่า portfolio เล็กน้อย เนื่องจากลูกค้าที่สมัครผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่าหรือประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า
แห่เพิ่มเป้าสินเชื่อออนไลน์ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัลปีหน้า จำนวน 1 แสนล้านบาทจากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้ราว 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมียอดอนุมัติเข้ามาแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายทั้งลูกค้าของธนาคารบนโมบายแอพพลิเคชันเกือบ 12 ล้านคนและอีกส่วนจะมาจากความร่วมมือกับพันธมิตร
,กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัลปีหน้าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาเริ่มทำลองตลาดในกลุ่มสินเชื่อบุคคลมีลูกค้าสมัครเข้ามาเกือบ 300 รายอนุมัติไปเพียง 100 ราย โดยพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นจะสนับสนุนการทำธุรกรรมดิจิทัลในปีหน้าให้คึกคักมากกว่าในปีนี้
NDIDหนุนสินเชื่อรายร่อย
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธาน กรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากโครงการ National Digital ID เกิดขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ หรือ Digital Lending จะง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อออนไลน์ได้ เบื้องต้นจะเน้นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ทั้งในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต คาดว่าจะมีลูกค้าใหม่ผ่านทางออนไลน์สัดส่วนขยับเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% จากยอดสมัครบัตรใหม่ 2 ล้านบัญชี จะเป็นลูกค้าใหม่ราว 8 แสนบัญชี
“NDID จะทำให้ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มที่ให้คนไทยเข้าถึงโลกออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และต้นทุนจะถูกลง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ช่องทางออนไลน์หรือดิจิทัลเติบโตเพิ่มขึ้นโดยเริ่มต้นจากการเปิดบัญชีและต่อยอดไปสู่การปล่อยสินเชื่อออนไลน์”
นายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัล ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนชาตมีการพัฒนาปรับปรุง platform ส่งเสริมการรับสมัครสินเชื่อ online ซึ่งใน 8 เดือนปีนี้มียอดความสนใจลูกค้าสมัครเบื้องต้น ประมาณ 150,000 ใบสมัครโดยมียอดอนุมัติสินเชื่อแล้วประมาณ 5,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจ
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารเริ่มปล่อยสินเชื่อบุคคลผ่านดิจิทัลกลุ่มลูกค้าเพย์โรลล์และกลุ่มร้านค้าที่ใช้คิวอาร์โค้ดโดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่อเนื่อง 6 เดือนเกิน 5 หมื่นบาทต่อเดือน วงเงินสินเชื่อ 2-5 เท่าของรายได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถปล่อยดิจิทัลเลนดิ้งในกลุ่มลูกค้าเพย์โรลล์ ได้ 10% ของลูกค้ากลุ่มนี้ที่มี 2 ล้านราย จากฐานลูกค้าเงินฝากทั้งหมด 17 ล้านบัญชี
หน้า1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562