บี้เก็บภาษีดิจิทัล ล้วงรายได้เฟซบุ๊ก

17 ม.ค. 2563 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2563 | 10:53 น.

สตาร์ตอัพ-บริการดิจิทัลเซอร์วิส จี้รัฐป้องธุรกิจไทย หนุนแนวคิดจัดเก็บภาษี VAT บริการดิจิทัลเซอร์วิส ทำให้รู้ข้อมูลเงินไหลออกเข้าแพลตฟอร์มข้ามชาติ “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ก่อนวางแนวทางไล่บี้ภาษี

 

 

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าไทยสูญเสียรายได้ให้กับผู้ให้บริการดิจิทัลข้ามชาติ ที่เข้ามาให้บริการในไทย ทั้งการโฆษณาออนไลน์เฟซบุ๊ก กูเกิล หรือดาวน์โหลดสติกเกอร์ ไลน์ ปีละหลายหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐไม่สามารถรับรู้ตัวเลขรายได้ที่แท้จริงของบริษัทเหล่านี้

ล่าสุดเดือนนี้ที่ประเทศมาเลเซีย ได้เริ่มการเก็บภาษีดิจิทัลเซอร์วิส 6% กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ โดยมีกูเกิล เฟซบุ๊ก เน็ตฟลิกซ์ ดร็อปบล็อกซ์และอีกหลายเจ้า เข้าร่วมแนวทางนี้กับภาครัฐมาเลเซีย ขณะที่ไทย กรมสรรพากร กำลังผลักดันกฎหมายอี-บิสิเนส(e-Business) เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมผู้ประกอบการไทย

“ผมสนับสนุนแนวคิดการจัดเก็บภาษี VAT ดิจิทัลเซอร์วิสเหมือนกับมาเลเซีย จริงอยู่การเก็บภาษี VAT บริการดิจิทัลเซอร์วิส กระทบกับผู้บริโภค แต่สิ่งที่รัฐบาลจะได้รับ คือข้อมูลรายได้ที่แท้จริงของผู้ให้บริการดิจิทัลเซอร์วิสข้ามชาติ ว่าเราสูญเสียรายได้ออกไปนอกประเทศให้กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัลไปเท่าไร ซึ่งมันคือการ “ขาดดุลการค้าทางดิจิทัล” ที่ปกติเราแทบไม่เคยเห็น ซึ่งการที่เห็นตัวเลขนี้จะทำให้รัฐสามารถออกมาตรการ หลายๆ ด้าน เพื่อทำให้การค้าทางดิจิทัลของประเทศเกิดสมดุลได้มากขึ้น”

นายภาวุธ กล่าวต่อไปว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการดิจิทัลเซอร์วิสไทย เสียเปรียบผู้ให้บริการต่างประเทศมาตลอด ทั้งในเรื่องฐานผู้ใช้บริการ บุคลากร เงินทุน การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และยังมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงกว่า เนื่องจากต้องเสียภาษีนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย

ด้านนายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ ไทยเทคสตาร์ตอัพ กล่าวว่าภาครัฐ ต้องมีนโยบายปกป้องธุรกิจภายในประเทศ เช่น มาตรการเก็บภาษีบริการ หรือ แพลตฟอร์มต่างประเทศ และลดภาษีบริการสตาร์ตอัพในประเทศ ซึ่งกรณีที่ไม่สามารถเรียกภาษีจากแพลตฟอร์มต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้นภาษีแพลตฟอร์มในประเทศ ที่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม

การเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ เป็นเรื่องยากเพราะติดเงื่อนไขภาษีซ้อนระหว่างประเทศดับบลิวทีโอ ซึ่งเราเข้าใจภาครัฐ ทางออกเชิงสร้างสรรค์คือ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดรัฐเลือกสตาร์ตอัพ ไทยที่มีโอกาสต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มระดับโลกหรือแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคมาสนับสนุน เช่น วงใน ที่เป็นแอพ แนะนำร้านอาหาร โดยอนาคตหากมีการขยายไปต่างประเทศ มีผู้ใช้เข้ามาเพิ่มขึ้น อาจสามารถต่อยอดไปสู่โซเชียลมีเดียเช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียข้ามชาติได้

 

ด้านนายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Claim Di สตาร์ตอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเคลมประกันดิจิทัล กล่าวว่าการเก็บภาษีดิจิทัล เซอร์วิสของไทยไม่ว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกหรือลบก็จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการ ซึ่งก็ต้องมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ถ้าประเทศไทยไม่ดำเนินการเรื่องการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ก็จะทำให้ภาครัฐเสียรายได้ จะเห็นว่าคนไทยมีการใช้งานแพลตฟอร์มจากต่างประเทศค่อนข้างมาก

ถึงแม้ว่าจะมีการเก็บภาษีดิจิทัล ก็คงไม่ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านั้นเลิกให้บริการในประเทศไทย ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มก็คงต้องยอมรับในเงื่อนไข เพราะฉะนั้นการเก็บภาษีเป็นทางออกทางหนึ่งที่บริษัทเหล่านั้นควรจะต้องจ่ายเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ที่เมื่อก่อนอาจจะไม่มีใครไปตรวจสอบว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการซื้อขายสินค้าก็ควรจะต้องมีการเก็บภาษี

แต่ก็ต้องดูว่าควรเสียภาษีเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมมีกฎหมายที่ออกมารองรับ จะเห็นว่าตอนนี้มีผู้ค้าปลีกจำนวนมาก ถ้ามีกฎกติกาขึ้นมาและเป็นกติกาที่มีความยุติธรรมทั้งสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่กรณีการเก็บภาษีดิจิทัล เซอร์วิส ของประเทศมาเลเซียที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่สามารถบ่งชี้ในรายละเอียดได้ เพราะโมเดลที่เหมาะสมของแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563