นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดลงทะเบียนชดเชยรายได้ให้กับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) รายละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันที่ 28 มีนาคม 2563 ผ่านเว็ปไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
“การลงทะเบียนดังกล่าวจะครอบคลุมพ่อค้า แม่ค้า มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่เป็นแรงงานนอกระบบ ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 แต่ไม่รวมมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคมอยู่แล้วและข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกรที่เป็นผู้ปลูกพืชขั้นต้น เพราะกลุ่มนี้รัฐบาลจะมีอีกมาตรการออกมาช่วยเหลือผ่านมาตรการช่วยภัยแล้ว ส่วนที่เกษตรกรที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าทางเกษตรแล้วโดนผลกระทบจากการปิดสถานประกอบการ ตลาด ร้านค้า ก็สามารถลงทะเบียนรับเงินได้เช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะมีการแถลงรายละเอียดขั้นตอนการลงทะเบียนอีกครั้งในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เวลา 15.00 น. และจะมีการเปิดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00 น. วันเสาร์ที่ 28 มีนาคมเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม นอกจาการช่วยเหลือสภาพคล่องระยะสั้นด้วยการให้เงินรายละ 5,000 บาทแล้ว ยังมีเงินกู้ฉุกเฉินราย ละ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% โดยไม่มีหลักประกันและไม่ติดเงื่อนไขเครดิตบูโร ซึ่งยื่นกู้ได้ที่ ธนาคาร ออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และหากยังต้องการสภาพคล่องมากกว่านั้น ยังมีสินเชื่อพิเศษจากธนาคาร ออมสินอีกรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน แต่ต้องมีหลักประกันและเป็นไปตามเงื่อนไขการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารด้วย
“มาตรการที่ออกมาเราไม่ได้ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้มากขึ้น แต่เราไม่รู้ว่า การระบาดโควิด-19 จะยาวนานแค่ไหน หากเงินที่ได้ 5,000 บาท 3 เพียงพอ ก็ไม่ต้องไปใช้เงินกู้ฉุกเฉิน และเราอยากให้ทุกคนใช้เงินอย่างประหยัด เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว จะได้มีทุนระยะหนึ่งที่จะดุแลตัวเองต่อไปได้”