สรรพากร เผย หลังขยายเวลายื่นแบบภาษี ส่งผลมีเม็ดเงินเข้าระบบ 150,000 ล้านบาท แถม สรรพสามิต อีก 50,000 ล้านบาท ส่งผล 2 กรมภาษี ทำเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่ม 200,000 ล้านบาท ลั่นยังทำต่อเนื่อง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการ ขยายเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมต้องยื่นภายในเดือนมี.ค. ไปเป็นไม่เกินส.ค. 2563 เพื่อ บรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 12,000 ล้านบาท ขณะนี้ขยายการยื่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นส.ค.เช่นกัน
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากร ได้เร่งการคืน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มเงินหรือสภาพคล่องให้อยู่ในมือประชาชนและผู้ประกอบการ โดย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืนไปแล้วกว่า 95% จากผู้ยื่นแบบมาทั้งหมด 3 ล้านราย ทำให้เม็ดเงินกลับคืนเข้าสู่ระบบ 28,000 ล้านบาท และยังเร่งคืน ภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 27,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.7% จากปีก่อน
“จากการเลื่อนและเร่งคืน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท รวมมีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง”นายเอกนิติกล่าว
กรมสรรพากรยังลดอัตรา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% สำหรับเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และลดเหลือ 2% หากเป็นชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) โดยเฉพาะระบบ e – Withholding Tax สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564
นอกจากนั้นยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการคงการจ้างงานในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2563 และยังยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย
นอกจากนั้นยังเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่า เบี้ยประกันสุขภาพ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริงเพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับค่า เบี้ยประกันชีวิต และ เงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิต แล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการขยายเวลาการจัดเก็บภาษีของกรมทั้งหมดไปถึงวันที่ 5 กรกฎาคม ทำให้มีเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบประมาณ 50,000 ล้านบาท และหลังจากนี้ไปก็พร้อมจะช่วยเหลือเต็มที่ต่อไป