วันนี้ (30 พ.ค.63) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณา “พรก.เงินกู้” 3 ฉบับ ที่พิจารณาติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ก่อนที่จะลงมติโหวตรับ-ไม่รับในวันพรุ่งนี้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ต่อประเด็นอภิปรายของส.ส.ที่ระบุว่า พ.ร.ก.ใหความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีช่องว่างที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อ ว่า หากข้อมูลเป็นไปตามที่อภิปรายขอให้แจ้งข้อมูลต่อ ธปท. เพื่อให้ธปท. รีบดำเนินการสอบสวน และหากพบความผิดจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ เพราะถือว่าทำผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายวิรไท ชี้แจงว่า สำหรับการกำหนดเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ยให้กับการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ถูกทักท้วงนั้น ข้อเท็จจริงคือ การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่แน่นอน อีกทั้งสถาบันการเงินมีต้นทุนค่าประกอบการด้วย
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ล่าช้านั้น เป็นเพราะสถาบันการเงินต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และมาตรการการทำงานอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การพิจารณาต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งแต่ละสถาบันการเงินนั้นมีคำนิยามว่าด้วยเอสเอ็มอีแตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาพิจารณาอนุมัติต่างกัน
“การปล่อยสินเชื่อ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งธปท. ไม่คาดหวังว่าการปล่อยซอฟต์โลนจะออกหมดทั้ง 5 แสนล้านบาท เพราะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด ที่สร้างผลกระทบด้วย แต่เจตนาสำคัญ เพื่อช่วยเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ”
นายวิรไท ชี้แจงด้วยว่า ซอฟต์โลนเป็นเพียงกลไกในหลายมาตรการของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้, พักชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือ ตามพ.ร.ก.นั้น พบว่ามีกลุ่มเอสเอ็มอีท่ีมีเงินลงทุน 500 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านรายได้รับอานิสงส์ และไม่เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่กู้เงินในนามผู้ประกอบการเพื่อทำธุกริจด้วย
อย่างไรก็ดี ช่วงระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาวะการเงินไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกวิถีใหม่ ไม่ใช่มุ่งใส่เงินเท่านั้น เพราะหากอนาคตไม่ปรับตัว และใช้เงินเป็นตัวนำ อาจทำให้มีมูลค่าหนี้สูงขึ้น และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก”
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ใหความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท นั้น ไม่ควรเรียกว่าเป็น “พ.ร.ก.กู้เงิน” เพราะเป็นเพียงกลไกเพื่อใช้รักษาสภาพคล่องของ ธปท. ต่อการปล่อยให้สถาบันการเงิน เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อครบกำหนดสถาบันการเงินต้องนำเงินมาจ่ายคืนให้ ธปท. ซึ่งไม่นับว่าเป็นหนี้สาธารณะ และไม่สร้างภาระคนรุ่นต่อไป