ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา “พรก.เงินกู้” 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในที่ประชุมสภาว่า การที่สมาชิกมีเรื่องกังวลในการกู้เงินครั้งนี้ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น ตนขอเรียนสมาชิกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักไม่น้อยกว่า 2% เพื่อให้มีความเข้มแข็งขึ้น
รัฐบาลได้วางกรอบไว้อย่างครอบคลุม หากเกิดวิกฤติเช่นนี้ขึ้นอีกเราจะได้เตรียมการรับมือเป็นการบริหารตามมาตรฐานสากล นั่นคือ ยึดเป้าหมายความยั่งยืนของประชาชน มีความมั่นคงทางการเงินระยะยาวซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในระยะยาวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณโครงการต่างๆ
ในส่วนการจัดการเงินกู้ เบิกจ่ายเงินกู้ การชำระเงินกู้ ซึ่งการบริหารจัดการจะทำโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงการคลังจะทำการกู้เงินด้วยแผนระยะยาว เพื่อให้กระจายตัวอย่างมีระบบ รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงด้วย
ในส่วนของ “พรก.ซอฟต์โลน” ขอยืนยันว่า ไม่ใช่การกู้เงิน เราไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่เรากำลังเผชิญปัญหาเรื่องกลไลของสภาพคล่องที่ไม่ปกติในสถานการณ์ตอนนี้ พรก.ฉบับนี้เป็นการให้อำนาจชั่วคราวกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกระจายสภาพคล่องอย่างทั่วถึงซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการหลักในการดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็ก รายย่อยที่มีพื้นฐานที่ดีเพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ
“นี่เป็นเพียงหนึ่งในชุดมาตรการ ไม่ใช่เป็นเพียงมาตรการเดียวในการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งยังมีมาตรการอื่นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกหลายทาง เนื่องจากว่าแต่ละธุรกิจก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีหลายวิธีการในการดูแล”
รมว.คลัง ชี้แจงด้วยว่า มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแล คือ การทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกรายสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีถือเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากของประเทศ เราจึงต้องการสนับสนุน เกื้อหนุน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งทรัพยากรและบุคคลากรเพื่อให้เกิดความพร้อมและก้าวไปข้างหน้าได้ในช่วงภายหลังวิกฤติโควิด
“วันนี้จึงไม่ได้หยุดแค่เรื่องการฟื้นฟู แต่รัฐบาลกำลังเดินไปข้างหน้าแล้ว” นายอุตตม กล่าว