“อนุสรณ์” แนะใช้ "เงินกู้ 4 แสนล้าน” ช่วยกิจการมีปัญหาฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์

07 มิ.ย. 2563 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2563 | 10:22 น.

“อนุสรณ์” แนะใช้งบ “4 แสนล.” ช่วยกิจการมีปัญหาฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ ชี้หลังผ่อนปรนเฟส 3 การฟื้นตัวของตลาดการเงินจะเป็นแบบ "V-shape"

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องรีบเร่งในการทำแผนงานและโครงการในการใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ และมุ่งเป้าไปยังกิจการหรือธุรกิจที่มีปัญหาการฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ ส่วนกิจการหรือธุรกิจที่คงไม่มีโอกาสฟื้นตัวในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ขอให้ช่วยเหลือจัดให้แรงงานไปทำกิจการอย่างอื่น หรือ ให้มีการฝึกอบรม upskill และ reskill ให้ไปประกอบอาชีพอื่นแทน หรือ บางธุรกิจเลิกไปเลยก็ดีเพราะผิดกฎหมายและไม่ได้ส่งเสริมให้สังคมมีศีลธรรมอันดี

หากจะยังยอมรับให้มีอยู่ก็ทำให้ถูกกฎหมายและเสียภาษีให้เรียบร้อย ไม่ใช่ลักลอบทำกันแบบจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแบบนี้ และเป็นแหล่งของการแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" (Covid-19) ได้ง่ายที่สุด  เศรษฐกิจไตรมาสสองจะหดตัวและติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก มีคนว่างงานและขาดรายได้อย่างฉับพลันจำนวนมากหลายล้านคน อย่าตื่นตระหนก ให้เร่งรีบวางกรอบและยุทธศาสตร์ในการใช้งบให้ดี เปิดให้รัฐสภาตรวจสอบ จะได้โปร่งใสเพื่อให้เม็ดเงินไปสู่ผู้เดือดร้อนจริงๆและไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีในอนาคต

“อนุสรณ์” แนะใช้ \"เงินกู้ 4 แสนล้าน” ช่วยกิจการมีปัญหาฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์

เงิน 4 แสนล้านบาทจากเงินกู้ที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจไทย ประมาณ 2% กว่าๆเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ แต่ก็ช่วยประคับประคองสถานการณ์ได้หากไม่แย่งกันบริหารงบแบบขาดความมีเอกภาพ หรืออย่างไร้ยุทธศาสตร์หรือใช้เงินโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ขอให้ได้ใช้งบจัดซื้อจัดจ้างจะได้ถอนทุนกันได้ เคราะห์กรรมและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหนี้สาธารณะจะตกกับประชาชนอย่างที่เราเห็นกันในประเทศละตินอเมริกาขณะนี้

หลังผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์เฟสสามแล้ว  จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนเดือนกรกฎาคมขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเกิดการฟื้นตัวของตลาดการเงินในไทยแบบ "V-shape" โดยเฉพาะตลาดหุ้นมีแรงซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติติดต่อกันหลายวันทำการ มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์บางวันทะลุสูงกว่าแสนล้านบาท

              แต่การปรับขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากนักเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจากต่างชาติเป็นหลัก ดัชนีหุ้นสามารถขึ้นไปทะลุระดับ 1,480 ได้ไม่ยากด้วยกระแสเงินทุนดังกล่าว แต่ราคาหุ้นจะแพงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานมากและมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงที่จะมีการเทขายทำกำไรก่อนผลประกอบการไตรมาสสองจะมีการทยอยประกาศในช่วงไตรมาสสาม ภายใน 1 สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนหลังการคลายล็อก ดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้นมาแล้ว 6.91% ขณะนี้ดัชนีเทียบกับต้นปีแล้วยังติดลบอยู่ประมาณ -9.1%  

              การเกิด V-shape ในตลาดหุ้นไทยระยะหนึ่งแล้วตลาดจะปรับฐานลดลงจากแรงส่งของเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินโลกชะลอตัวลง แต่จะไม่มี V-shape ของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีคนว่างงานจำนวนมากและเราปล่อยให้ธุรกิจ “เอสเอ็มอี” และขนาดย่อมปิดกิจการ เราช่วยเหลือช้าไป เมื่อกิจการถูกปล่อยให้ล้มแล้วฟื้นขึ้นมาต้องใช้เวลากระแสเม็ดเงินระยะสั้นไหลเข้าทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นซ้ำเติมภาคส่งออกที่อยู่ในภาวะซบเซาอยู่แล้ว

ทำให้สถานการณ์การว่างงานและการเลิกจ้างในภาคการผลิตยังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น คาดการณ์ว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาสสาม ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอาจจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแต่จะยังไม่มีนัยยสำคัญอะไรต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมหรือตลาดการเงิน หากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังอยู่ภายใต้ครรลองของระบอบประชาธิปไตย

ธุรกิจโดยภาพรวมมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากมาตรการความปลอดภัยจากโควิด-19 (Covid-19 Safety measures) ซึ่งมาตรการของไทยบางอย่างเข้มเกินความจำเป็นจนทำให้มาตรการความปลอดภัยจาก Covid-19 ก่อให้เกิดต้นทุนต่อภาคธุรกิจสูงกว่าหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการเข้มเหล่านี้ทำให้ ไทย เป็นประเทศหนึ่งที่น่าจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อระลอกสองในระดับต่ำและไม่รุนแรง

ขณะเดียวกันธุรกิจและกิจการต่างๆยังมีต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงานและต้นทุนพลังงานที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่แล้วแต่มีปัญหาด้านยอดขายและกำลังซื้อ ต้นทุนจากมาตรการความปลอดภัยจาก Covid-19 เป็น New Normal ที่ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันของธุรกิจอย่างมีนัยยสำคัญหากมีวิธีการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากพอ

              สำหรับตัวอย่างธุรกิจหรือกิจการ 11 กลุ่ม ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังคลายล็อกดาวน์ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1. ส่งออกอาหารและอาหารแปรรูป 2. กิจการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง หน้ากากอนามัย 3. กิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างกับรัฐบาลและธุรกิจสัมปทานจากรัฐ 4. ธุรกิจการเงินการธนาคารโดยเฉพาะธุรกิจซื้อขายตราสารทางการเงินและสินเชื่อ 5. ธุรกิจพลังงาน 6. ธุรกิจปิโตรเคมี 7. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กและตกแต่งภายใน 8. ขนส่งทางบก 9. กิจการโรงพยาบาล 10. กิจการโรงรับจำนำ 11. กิจการร้านอาหาร 12. กิจการค้าปลีกซูเปอร์มาเก็ต 13. กิจการ ICT คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ใช้ในการประชุมและสัมมนาออนไลน์

ตัวอย่าง 8 ธุรกิจหรือกิจการที่ยังฟื้นตัวช้าและขยายตัวต่ำแม้นคลายล็อกดาวน์แล้ว ได้แก่ 1. ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงการคอนโดในเมืองท่องเที่ยวและในกรุงเทพปริมณฑล 3. ธุรกิจท่องเที่ยว 4. ธุรกิจสายการบิน 5. กิจการอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนนานาชาติ 6. กิจการขายสินค้าหรูเบรนด์เนมที่ไม่ใช่สินค้าจำเป็นในชีวิต 7. สถานที่ท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ 8.กิจการนวดและสปา เป็นต้น

ตัวอย่าง 7 กลุ่มธุรกิจซบเซาต่อเนื่องหรือกิจการที่เจ้าของและแรงงานควรหันไปทำกิจการอื่นก่อนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า บางส่วนเป็นธุรกิจสีเทาจำนวนหนึ่งเป็นกิจการผิดกฎหมายผิดศีลธรรมและอยู่ภายใต้การคุ้มครองของคนมีสี ได้แก่ 1. ธุรกิจสนามมวย สนามม้า สนามชนไก่ ที่แฝงการพนันหรือบ่อนการพนัน 2. กิจการอาบอบนวดและค้าประเวณี 3. กิจการผับบาร์ ธุรกิจสถานบันเทิงกลางคืนที่การแสดงโชว์ในพื้นที่อับแคบ 4. ธุรกิจโรงมหรสพ โรงละคร โรงภาพยนตร์ 5. ธุรกิจจัดงานคอนเสริต์และงานนิทรรศการแสดงสินค้า รวมทั้งงานอีเวนท์ต่างๆ 6. ธุรกิจสวนน้ำสวนสนุก 7. กิจการธุรกิจทัวร์ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง เป็นต้น