พรก.กู้เงิน ต้องดูแลเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงทุน

08 มิ.ย. 2563 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2563 | 11:12 น.

“องอาจ” ย้ำ พรก.กู้เงิน ต้องดูแลเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงทุน เผย พบอุปสรรคการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ไม่เหมือนกับมาตรการที่ประกาศก่อนหน้า ยัน ต้องปล่อยให้กู้แบบทั่วหน้าทั้งลูกค้าเก่า-ใหม่

การพิจารณา พรก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น ส.ส.จำนวนไม่น้อย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการพิจารณา พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอีที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ได้มี ส.ส. หลายท่านอภิปรายถึงปัญหาอุปสรรคที่เอสเอ็มอีขนาดย่อมจำนวนมากเข้าไม่ถึงเงินกู้ที่ พรก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยจัดซอฟท์โลนดูแลเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาทที่ให้เอสเอ็มอีกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐเพื่อเสริมสภาพคล่องเพราะเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่ไปยื่นเรื่องขอกู้

ธนาคารหลายแห่งก็จะไม่ปล่อยกู้เพราะกังวลเรื่องหนี้เสีย ถึงแม้กระทรวงการคลังจะจ่ายชดเชยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอาไปคืนธนาคารพาณิชย์ส่วนที่เป็นหนี้เสีย 70% ก็ตาม ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยก็พบกับการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เหมือนกับมาตรการที่ประกาศก่อนหน้านี้ บางที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่ควรจะเป็น นายองอาจ กล่าว 

ขณะนี้ พ.ร.ก.ผ่านการพิจารณามาหนึ่งสัปดาห์แล้ว ก็ยังไม่มีการแก้ไขอะไร จึงขอฝากภาครัฐให้เข้าไปสำรวจตรวจสอบดูว่าธนาคารบางแห่งมีการดำเนินการอะไรที่นอกเหนือจากมาตรการที่กำหนดหรือไม่ และควรให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีอย่างทั่วหน้าทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ควรมีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยกู้ของธนาคารต่างๆว่า ปล่อยกู้ให้ลูกค้าเก่ากี่ราย ลูกค้าใหม่กี่ราย และภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือเก็บตกเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ ให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะทำธุรกิจต่อไปได้เพราะเอสเอ็มอีถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการก่อสร้าง ภาคการเกษตรกว่า 3-4 ล้านราย มีการจ้างงานโดยรวมกว่า 14 ล้านคน

ถ้าเอสเอ็มอีอยู่ไม่ได้ การผลิตการค้าการบริการก็ไปไม่รอด มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีกมาก คนชั้นกลาง คนชั้นล่างจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยากที่เอสเอ็มอีจะกลับมาลืมตาอ้าปากได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว จะส่งผลเสียต่อประเทศเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปเอสเอ็มอีจะมีฐานะทางการเงินและสภาพคล่องต่ำอยู่แล้ว เมื่อมาเจอวิกฤตโควิด-19 กระหน่ำเข้ามาอีก ทำให้เอสเอ็มอีอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากแต่ถ้า พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท สามารถทำตามมาตรการได้อย่างทั่วถึง จริงจังก็จะช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอีที่เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจไทย ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ต่อไป