ซี้ดปากครางฮือกันทั้งตลาดหุ้น ตลาดทุน เมื่อ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่มี “อภิชาติ จูตระกูล” เป็นประธาน “เศรษฐา ทวีสิน” เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศเสนอขาย “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” หรือ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” (Subordinated Perpetual Bond) วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท โดยจ่ายดอกเบี้ยปีที่ 1 - 5 เท่ากับ 8.50% สวนทางภาวะดอกเบี้ยขาลง
หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่แสนสิริเสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไป มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB- กำหนดจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เปิดจอง 22 – 25 มิ.ย. 2563 โดยขายผ่านทางธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ซีไอเอ็มบีไทย และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส
อันว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ นั้นถือเป็นหุ้นกู้ไม่มีกำหนดอายุ ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิให้ผู้ออกหุ้นกู้ไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน แต่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนเมื่อครบ 5 ปี
และการที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับคืนเงินนั้นก็จนกว่าบริษัทจะจ่าย และถ้าบริษัทเลิกกิจการ หุ้นกู้นี้จะมีลำดับการชำระหนี้หลังเจ้าหนี้ทั่วไป แต่ได้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
แถมผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิ์เลื่อนชำระดอกเบี้ยได้ หุ้นกู้นี้ผู้ออกหุ้นกู้สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ โดยยกยอดไปจ่ายวันใดๆ ก็ได้ไม่จำกัดระยะเวลา และจำนวนครั้ง แต่หากเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ ผู้ออกหุ้นกู้จะไม่สามารถประกาศหรือจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้
ต่อมาอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับทุกๆ 5 ปี โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นไป 2 ระดับ ถ้าจาก 8.5% จะทะยานขึ้นไป 10%ได้ง่ายๆ
ผู้บริหารแสนสิริบอกว่า การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนครั้งนี้ เป็นการวางแผนด้านการเงินเพื่อรองรับการเติบโตที่แข็งแกร่งที่ยั่งยืนในระยะยาวของบริษัท ซึ่งมีแผนผลักดันยอดขายเติบโตสู่ 120,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ผ่านยุทธวิธีการทำงานที่แข็งแกร่ง 3 แนวทาง
1. แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ที่รัดกุมพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามทุกสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
2. การบริหารสต็อกที่ดี ปัจจุบันแสนสิริ มีสินค้าพร้อมขายมูลค่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สมดุล
3. การบริหารกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่ดี โดยได้จัดสรรกระแสเงินสดหมุนเวียนไว้ 10,000 ล้านบาท
ประเด็นที่เป็นคำถามกันอย่างหนักในระบบตลาดหุ้น ตลาดทุน และคนมีสตุ้งสตางค์ คือ อัตราดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ระดับเครดิต BBB- สูงขนาด 8.5% เชียวหรือ?
ต้นทุนทางการเงินที่สูงขนาดนี้ใครสามารถทำกำไรในระบบเศรษฐกิจได้ เพราะถ้ามีการออกหุ้นกู้ชั่วนิจนิรันดร์ 3,000 ล้านบาท ที่ดอกเบี้ย 8.5% หมายความว่า ในแต่ละปีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 255 ล้านบาท
เอาเพียงแค่ระยะ 5 ปีที่บริษัทผู้ออกส่วนใหญ่ จะต้องมีการไถ่ถอนหรือไม่ก็มีการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ก้อนนี้ออกไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยไปถึง 1,275 ล้านบาท
คิดดูว่ากู้เงินมา 3,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยไปใน 5 ปี 1,275 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่ของเงินกู้เชียว
ร้ายกว่านั้น นักการเงินบอกว่า ถ้าใน 5 ปีแล้วทางแสนสิริไม่ไถ่ถอนคืน การออกตราสารหนี้ชั่วนิจนิรันดร์คืนต้นทุนของการออกตราสารหนี้จะเพิ่มแบบพรวดพราด เพราะทางบัญชีจะถือว่าเป็นหนี้สิน ไม่ใช่กึ่งทุนอีกต่อไป
ต้นทุนขนาดนี้ในภาวะที่ดอกเบี้ยขาลง เมื่อพิจารณาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยมา 2-3 ครั้ง จากระดับ 1.25% ลงมายืนที่ระดับ 0.50 % ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา
บรรดานายธนาคารต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดอกเบี้ยน่าสนใจ แต่เป็นดัชนีอ้างอิงในตลาดทันทีสำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจอื่นๆที่จะออกตราสารคล้ายทุนหรือหุ้นกู้ชั่วนิจนิรันดร์ว่าต้อง 8.5% โดยไม่สนใจว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลงหรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการออกหุ้นกู้ประเภทนี้ไม่กี่รายและส่วนใหญ่ดอกเบี้ยจะเฉลี่ยแค่ 5% มีเพียง
ปี 2542 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มูลค่า 19,956 ล้านบาท
ปี 2550 ธนาคารธนชาต มูลค่า 14,260 ล้านบาท
ปี 2549 ธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่า 13,866 ล้านบาท
ปี 2549 ธนาคารทหารไทย (TMB) มูลค่า 16,000 ล้านบาท
ปี 2555 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มูลค่า 10,000 ล้านบาท
ปี 2557 บมจ.อินโดรามาเวนเจอร์ส (IVL) มูลค่า 30,000 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 7%
ปี 2557 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ออกมูลค่า 65,280 ล้านบาท
ปี 2558 บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ออกหุ้นหู้นิจนิรันดร์อันดับเครดิต BB+ มูลค่า 2,000 ล้านบาท จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 8.5% ใน 5 ปีแรก โดยจ่ายทุก ๆ 3 เดือน
ปี 2559 บริษัท บียอนด์ กรีน จำกัด ออกมูลค่า 156 ล้านบาท
ปี 2559 บมจ.ซีพีออลล์ ออกจำนวน 10,000 ล้านบาท จ่ายอัตราดอกเบี้ย 5% ใน 5 ปีแรก
ปี 2561 บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ออกวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มีเงื่อนไขการจองซื้อขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน และ 1 แสนบาท สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป
MINT สร้างความตื่นตะลึงให้กับตลาดด้วยการปะกาศการจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดปีที่ 1-5 อัตราผลตอบแทน 5.85% ปีที่ 6-25 จ่ายตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 3.81% ปีที่ 26-50 จ่ายอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 4.56% ปีที่ 51 เป็นต้นไป จ่ายตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + 5.56% กรณีที่บริษัทเลื่อนชำระดอกเบี้ยทุกงวดตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ จนถึงวันใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดจะจ่ายอัตราผลตอบแทนการลงทุน 5 ปี เท่ากับ 5.27% , 25 ปี เท่ากับ 3.75% , 50 ปี เท่ากับ 2.92% และ 100 ปี เท่ากับ 2.24% หุ้นกู้ชั่วชีวิตที่ออกในครั้งนี้ ไมเนอร์กำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่บริษัทใช้สิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย บริษัทจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้
ปี 2562 บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด ขายให้กับนักลงทุนแบบเจาะจง 10 ราย วงเงิน 500 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 8.75% บริษัท อินโดรามา IVL ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 15,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% มาไถ่ถอนของเดิมออกไป บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ 508 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 9.5% เพราะมีเครดิต B+ ตอนนี้ถ้าPF จะกู้ผ่านหุ้นกู้ชั่วนิจนิรันดร์ไม่แน่ดอกเบี้ยอาจเพิ่มเป็น 10%...จริงๆ
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่หลายฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ใน 2563 โดยเฉพาะ TAS 32 หรือมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุน ซึ่งจะส่งผลให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งทำให้อัตราส่วนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี เรโช) สูงขึ้น แต่ได้ขยายเวลาออกไปให้ใช้ได้ต่อไปอีก 3 ปี
ทั้งนี้ TAS 32 ฉบับใหม่ได้กำหนดว่า ถ้าการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจนทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน
ความเสี่ยงของหุ้นกู้ตัวนี้คือ กำหนดเวลาไถ่ถอนเมื่อผู้ออกเลิกกิจการ สามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข
ใครจะลงทุนในหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จะต้องมีเงินเย็นจริง เพราะหุ้นกู้ประเภทนี้อาจต้องลงทุนกันตลอดชีพ ตลอดชาติ ก็ได้!