จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมออกมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (เฟสใหม่) โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.- 31 ธ.ค. 2563 ด้วยการลด"เพดานดอกเบี้ย" สินเชื่อบุคคล (P - Loan) ลง 2- 4%
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC ) ผู้ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ามาตรการเฟสใหม่เป็นมาตรการที่เชื่อมต่อจากเฟส 1 ที่ช่วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ( เม.ย.-มิ.ย. 63 ) ซึ่งจะจบสิ้นในเดือนนี้ ขณะที่เฟส 2 ธปท.มีแนวคิดที่จะลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลลง 2-4% จากปัจจุบันที่ 28% แบ่งการลดเป็น 3 อัตรา คือลงเหลือ 24% สำหรับสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกัน (รถยนต์,รถจักรยานยนต์ ), เหลือ 25% สำหรับสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเหลือ 26% สำหรับสินเชื่อบัตรกดเงินสด (อ่าน : ข่าวที่เกี่ยวข้อง )
ข่าวเกี่ยวข้อง
เฮ "ลดดอกเบี้ย" สินเชื่อบุคคล - บัตรเครดิต สูงสุด 6%
"ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระลูกหนี้ให้ได้รับดอกเบี้ยถูกลง ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว ควบคุมต้นทุน หาแหล่งเงินที่ถูกลงและควบคุมไม่ให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งขึ้นกับผู้ประกอบการแต่ละรายว่าเคยคิดดอกเบี้ยเท่าไร ส่วน MTC คิดดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 20-21% จึงไม่ได้รับกระทบ "
ส่วนประเด็นที่ว่า การที่ทางการลดเพดานดอกเบี้ยลง จะส่งผลให้ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินหรือไม่ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องคัดกรองลูกหนี้มากขึ้น เพื่อควบคุมหนี้เสีย นายชูชาติ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีจำนวนมาก มีสาขาครอบคลุมทั้งระบบกว่า 1.5 หมื่นสาขา เป็นข้อได้เปรียบของลูกค้าอยู่แล้ว
"ผู้ประกอบการ (non bank )ที่ให้บริการทั้งตลาดมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแม้ทางการจะสั่งให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 2-4% แม้จะกระทบต้นทุนและกำไรของผู้ประกอบการ แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลต่อการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชน เพราะยังมีช้อยส์ให้เลือกอีกมาก หากรายนี้ไม่ปล่อย ก็ไปยื่นกู้กับรายอื่นแทนได้ "
อย่างไรก็ดีมีรายงานว่า หลังจากที่ธปท.เรียกประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เฟส 2
ทางสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แก่ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ได้ทำหนังสือถึงธปท.โดยได้ให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา รวมถึงชี้แจงผลกระทบที่ผู้ประกอบการและประชาชนจะได้รับ หากธปท.ประกาศลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่างๆลง 2 - 4%ตามข้อเสนอนั้น
โดยชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ระบุว่า หากมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลงมาตามธปท.เสนอ จะทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่สามารถให้บริการสินเชื่อภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าวได้ โดยคาดจะมีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ดังนี้
1.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 27% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 3.5 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 1.15 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 9 หมื่นล้านบาท 2.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 26% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 4.7 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 1.6 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 1.3 แสนล้านบาทและ3.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 25% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 2 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 1.9 แสนล้านบาท
ดังนั้น ชมรมฯจึงขอให้ธปท.พิจารณาถึงผลกระทบที่จะจะเกิดขึ้นต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ แต่หากธปท.ต้องมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมา ชมรมฯเสนอว่าควรเริ่มมาตรการในวันที่ 1 ต.ค.63 เพื่อให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับปรุงระบบ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารมาตรการและปรับปรุงบัญชีของลูกค้า และมาตรการของธปท.ดังกล่าว ให้บังคับใช้กับลูกค้าใหม่เท่านั้น ส่วนลูกค้าปัจจุบันให้คงอัตราดอกเบี้ยคงเดิมจนกว่าจะครบสัญญา
ด้านสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ระบุว่า การลดเพดานสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% เหลือ 24% จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กอยู่ไม่ได้ เพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรจากจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้เลย และเมื่อผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้ ก็ทำให้ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเหลืออยู่แต่ผู้ประกอบการายใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกจำกัด
ขณะเดียวกัน การลดเพดานดอกเบี้ยลง 2% แทบจะไม่ลดภาระให้ลูกค้าได้เลย เช่น หากขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2 หมื่นบาท ผ่อน 12 งวด จะลดภาระให้ลูกค้าได้เดือนละ 40 บาท หรือลดจาก 1,930 บาทต่อเดือน เหลือ 1,890 บาทต่อเดือน แต่ผลที่ตามมา คือ ผู้ประกอบการต้องเพิ่มวงเงินกู้ขั้นต่ำให้สูงขึ้น หรือลดการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารากหญ้าเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ และต้องหันไปกู้สินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯพร้อมจะให้ความร่วมมือกับธปท. แต่ขอเสนอให้ธปท.ลดพิจารณาลดเพดานดอกเบี้ยจาก 28% เหลือ 26% เพราะผู้ประกอบการโดยรวมสามารถลดดอกเบี้ยลงมาได้ไม่เกิน 2% แต่หากธปท.ปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมามากกว่านี้ ผู้ประกอบการส่วนมากจะอยู่ไม่ได้ และในปัจจุบันผู้ประกอบการเองก็มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธปท. จึงไม่ควรทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกธุรกิจไป
นอกจากนี้ หากธปท.มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมา จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เช่น ลดภาษีธุรกิจเฉพาะลงเหลือ 0.01% จากเดิม 3% งดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการยกหนี้ให้กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่รอด และขอให้ธปท.ต้องประกาศล่วงหน้า 60 วันก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว
โบรกมอง ธุรกิจบัตรเครดิตกระทบสุด
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข่าวที่ออกเป็นทางการจากธปท. อย่างไรก็ดีในขั้นต้นเราประเมินผลกระทบจากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยที่ 2% (เท่ากับการลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปี 2560) ของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน เป็นเวลา 6 เดือน (เริ่มมาตรการ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.) โดยมีข้อสังเกตสำหรับ
1) กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด คือสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากปัจจุบันมีการคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระราว 18% เท่ากับเพดานดอกเบี้ยอยู่แล้ว ดังนั้นทุกๆ 1% ที่มีการลดเพดานลง จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยรับโดยตรง ทำให้ KTC และ AEONTS คาดได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีสินเชื่อดังกล่าวเป็นสัดส่วน 66% และ 40.5% ของพอร์ตรวม (ทุกๆ 1% ของเพดานดอกเบี้ยที่ลดลงกระทบประมาณการกำไรปี 2563 ราว 4.1% และ 2.1% ตามลำดับ) ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลคาดไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่คิดดอกเบี้ยกับลูกหนี้ในระดับที่ต่ำกว่าเพดานที่ 28%
2) สินเชื่อที่มีหลักประกันอย่าง SAWAD และ MTC ได้รับผลแตกต่างกัน โดย MTC คาดไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าเพียง 20-23% ต่ำกว่าเพดานของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันที่ 28% ส่วน SAWAD แม้คิดดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถสูงกว่า MTC ที่ 25-28% แต่ SAWAD ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อกลุ่มที่ High Yield ผ่าน BFIT (ป็นหนึ่งในสถาบันการเงิน) ซึ่งสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 36% ทำให้มีเพดานที่สูงกว่าคู่แข่ง แต่ส่วนที่ยังมีความเสี่ยงคือสินเชื่อที่มีที่ดินและอาคารเป็นหลักประกัน เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด 35-36% เพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงกว่าของหลักประกันทำให้มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบหากมีการลดเพดานดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีเราพบว่าสินเชื่อดังกล่าวคิดเป็นเพียง 16.9% ของสินเชื่อรวม ทำให้ผลต่อประมาณการกำไรค่อนข้างจำกัด
3) BAM มีการให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่ยู่ในโครงการปรับโครงสร้าง โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดอยู่แล้ว ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ
ด้านบล. ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า การลดดอกเบี้ยลง 2-4% จะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถ โดยเฉพาะบมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ซึ่งมีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ที่สุด จะกระทบมากสุด