"วิกฤติโควิด-19" ส่งผลกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ทุบสถิติดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหุ้นไทยปิดร่วงต่ำสุดในช่วงกลางมี.ค.แตะระดับ 1,024-1,035 จุด ก่อนจะทยานฟื้นในเดือนเม.ย. และล่าสุดปิดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 63 อยู่ที่ 1,349 จุด
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สำรวจความมั่งคั่งจากการถือครองหุ้นในรอบครึ่งปีแรก ( 30 ธ.ค.62 - 30 มิ.ย. 63 ) โดยรวบรวมข้อมูลจากรายงานตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามหาเศรษฐีหุ้นไทยที่มีมูลค่าพอร์ตในระดับเกิน 2 หมื่นล้านบาท (ไม่นับนักลงทุนวีไอ นายนิติ โอสถานุเคราะห์) ทั้งสิ้น 12 รายมี 2 รายเท่านั้นที่สามารถฝ่าโควิด มั่งคั่งขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ถือ นั่นคือ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี หรือ“เสี่ยกลาง”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถือหุ้น 35.44% มีมูลค่ารวม ณวันที่ 30 มิ.ย.63 อยู่ที่ 1.43 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.72 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 13.70% จากสิ้นปี 62 ที่มีมูลค่า 1.26 แสนล้านบาท จากราคาหุ้น GULF ที่ปรับขึ้นจาก 33.20 บาท เป็น 37.75 บาท
ความมั่งคั่งของ"เสี่ยกลาง"ยังไม่นับรวมหุ้นที่ถือทางอ้อมในโฮลดิ้งและบริษัทในเครือซึ่งถือหุ้น GULF และยังไม่นับรวมถึงผลตอบแทนในรูป"เงินปันผล" โดยเฉพาในช่วงปีหลัง GULF แผ่ขยายเข้าลงทุนเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงล่าสุดเข้าซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ( INTUCH ) จำนวน 162.63 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.0718% ใช้เงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท เพื่อเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในอนาคต เพราะหากคำนวณหุ้น INTUCH ปันผลเฉลี่ยปีละ 2.65 บาทต่อหุ้น GULF จะได้รับเงินปันผลถึงปีละ 430 ล้านบาท บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) ให้เป้าพื้นฐานหุ้น GULF ที่ 41.00 บาท โดยประเมินว่าจะมีอัพไซด์จากการเข้าลงทุนใน INTUCH ราวะ +2 บาท
ข่าวเกี่ยวข้อง
เปิดหุ้นที่"นิติ โอสถานุเคราะห์"ลงทุนช่วงโควิด
เปิดพอร์ตเศรษฐีหุ้นไทย "สารัชถ์"ยืนเดี่ยวฝ่าโคโรนารวยเพิ่ม 6พันล้าน
เศรษฐีน้องใหม่ที่มาแรงแซงหน้า โดยมีมูลค่าพอร์ตเกิน 2 หมื่นล้านบาท คือ นางสาวณัชชไม ถนอมบูรณ์เจริญ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) และถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 210,000,000 หุ้น สัดส่วน 21% โดยหุ้น CBG ปรับขึ้นจาก 84 บาท มาเป็น 104 บาท (พุ่งขึ้นหลานเท่าตัวจากปี 61 ที่อยู่ระดับ 30.75 บาท ) ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตที่"ณัชชไม"ถือในช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้น 4,200 ล้านบาท หรือ เติบโต 23.81% อยู่ที่ 21,840 ล้านบาท
ส่วนเศรษฐีหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ เจ้าสัวนายเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ถือใน 2 บริษัทคือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) สัดส่วน 27.56% และ 19.13% ตามลำดับ และในบมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) สัดส่วนเท่ากัน 37.38% จากราคาหุ้น AWC ปรับร่วงจาก 5.85 บาท เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่ 3.96 บาท ส่งผลให้มูลค่าพอร์ตลดมาอยู่ที่ 41,354 ล้านบาท และ 30,932 ล้านบาท หรือ -33.37% และ -33.15% ตามลำดับ รวมกันเสี่ยเจริญและภรรยา รวยลดลง 3.6 หมื่นล้านบาท
ส่วนนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการและทายาทคนโตแห่งอาณาจักรสี TOA หรือ บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) มีมูลค่าพอร์ตลดลง 2,644 ล้านบาท หรือ - 6.27% อยู่ที่ 39,503 ล้านบาท จากมูลค่าหุ้นที่ถือใน TOA สัดส่วน 9.0% และส่วนหนึ่งเป็นผลจากเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา นายวนรัชต์ ได้กระจายหุ้นโดยลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK ) จากเดิม 69.29% มาเป็น 67.60%