เงินฝากแบงก์โต11%ตามหนี้ครัวเรือน

12 ก.ค. 2563 | 14:23 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2563 | 09:03 น.

เงินฝากแบงก์ยังเพิ่ม พ.ค.ขยายตัว 11.49% หลังองค์กร-บุคคลธรรมดาโยกเงินหนีจากกองทุนรวม ตราสารหนี้ สคฝ.เผยสัดส่วนเงินออมและภาระหนี้ครัวเรือนยังไปในทิศทางเดียวกัน พบบัญชีเงินฝากบุคคลเพิ่ม 3%  รวมผู้ฝาก 35 ล้านคน 

 

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แล้วมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 80.1% ในไตรมาสแรกปี 2563 ส่วนหนึ่งสะท้อนว่า ภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 13.479 ล้านล้านบาท ลดลง 3,562 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง แต่ยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนช่วงปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.483 ล้านล้านบาท

 

แต่หากเทียบกับมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้ว หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นจาก 79.9% ในไตรมาส4 ปี 2562 มาอยู่ที่ 80.1% ในไตรมาส 1 ปี 2563 สูงสุดในรอบ 4 ปี และคาดว่า สิ้นปี 2563 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะสูงขึ้นไปอยู่ในกรอบ 88-90% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 18 ปี

 

เศรษฐกิจที่ชะลอ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น สะท้อนรายได้ครัวเรือนที่ลดลงแต่หากพิจารณาโครงสร้างเงินฝากจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดือนพฤษภาคม 2563 พบว่า มีเงินฝากรวม 14.45 ล้านล้านบาท กว่า 102 ล้านบัญชี โดยเงินฝากเพิ่มขึ้น 1.49 ล้านล้านบาท หรือ 11.49% จากช่วงเดียวกันปี 2562  โดยจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้น 2.56 ล้านบัญชี

 

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ประเทศไทยหลังวิกฤติปี 2540 หลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทุนแข็งแกร่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ซึ่งนอกจากจะระมัดระวังด้านสินเชื่อ ด้วยการกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อทุนให้อยู่ในระดับตํ่าแล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ทุกสถาบันมีเงินกองทุนและกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพียงพอจะรองรับได้

 

ขณะเดียวกันภาคองค์กรธุรกิจต่างมีวินัยเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคประชาชนที่ยังตรงกันข้าม

เงินฝากแบงก์โต11%ตามหนี้ครัวเรือน

 

“ภาระหนี้สินของประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้นั้น ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการใช้จ่ายเกินตัว เห็นได้จากการอุปโภคบริโภคทยอยปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการกู้ ซึ่งการบริโภคที่เติบโตกำลังทำร้ายคนไทยส่วนหนึ่ง ที่ไม่ควรสร้างหนี้เกินตัว เกินความจำเป็น เพราะอุปสรรคของการออมคือ ภาระหนี้ที่มาจากการใช้จ่ายเกินตัว สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับการทำให้ทุกคนตระหนัก ต้องรู้วินัยการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ของตัวเอง”

 

ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.)เปิดเผยกัับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันโครงสร้างเงินฝากและโครงสร้างหนี้ยังไปในทิศทางเดียวกันคือ สถานะของผู้มีเงินฝากจากสถิติแม้ไม่ได้มีเงินออมเหลือมาก แต่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ประกอบกับมาตรการพักหนี้ช่วยประคองได้ แต่ไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ยังเป็นความท้าทาย แต่ก็เห็นโอกาสที่คนมีความตื่นตัวมากขึ้นในการออม 

 

โดยเฉพาะวิกฤติโควิดรอบนี้ ซึ่งส่วนตัวมองว่า คนไทยสามารถเลือกออมเงินได้หลากหลาย แต่ที่สำคัญต้องมีความรู้ก่อนที่จะเลือกออมแต่ละสินทรัพย์ เช่น การออมในสลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือ ออมสิน, หุ้นกู้ แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน(หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์)นั้น ต้องเข้าใจความเสี่ยงก่อนจะเลือกลงทุน ซึ่งอาจจะไม่ใช่การออมโดยตรง

 

สำหรับสาเหตุที่คนไทยไม่เข้าสู่ระบบเงินฝากนั้น มาจาก 3 ปัจจัยคือ ประชากรเด็กส่วนหนึ่งคือ อายุน้อยกว่า 15ปี ประกอบกับปัจจุบันจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ลดลงเมื่อเทียบในแต่ละตำบล แต่ละภาคส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง กรุงเทพและปริมณฑล และการประกอบอาชีพแตกต่างกัน (ลูกจ้างหรือผู้ประกอบการที่มีรายได้ประจำ หรือรายได้ไม่ประจำ) หรือภาคเกษตรกรรายได้ขึ้นอยู่ฤดูกาล และผลผลิตกับราคาสินค้าเกษตรด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเงินฝากภายใต้คุ้มครองปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมามี 14.67 ล้านล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปี เงินฝากเพิ่มขึ้นมากในเดือนมีนาคมและเมษายน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และการโยกเงินลงทุนจากกองทุนรวมและตลาดตราสารหนี้หรือหุ้นกู้มาอยู่ในบัญชีเงินฝาก โดยเฉพาะบัญชีนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 

 

ส่วนบัญชีบุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3% ในเดือนมีนาคมและเมษายน หากพิจารณาสัดส่วนผู้ฝากเงินรวม 35 ล้านคนโดยประมาณ พบว่า ผู้ฝากที่มีอายุ 15-25 ปี จำนวน 6 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนเงินฝาก 2% ของเงินฝากรวม อายุ 26-35ปี มี 7.5 ล้านรายสัดส่วน 9% ของเงินฝากรวม อายุ 36-45 ปีมี 7.8 ล้านรายสัดส่วน 17% ของเงินฝากรวม อายุ 46-60 ปี มี 8.6 ล้านรายสัดส่วน 36%ของเงินฝากรวม และอายุมากกว่า 60ปีขึ้นไปมี 4.3 ล้านรายสัดส่วน 35%ของเงินฝากรวม 

 

“หลังจากโควิด-19 รุนแรงขึ้น จะเห็นยอดสะสมเงินฝาก ซึ่งโยกมาจากตราสารหนี้และกองทุนรวมเดือนมีนาคม และเริ่มทรงตัวในเดือนเมษายน ซึ่งผู้ฝากเงินทั้งหมด 35 ล้านคนหรือรายโดยประมาณ ถามว่าอัตราส่วนหนี้และเงินฝากสอดคล้องกัน เพราะวัย เด็กอยู่ในช่วงสร้างตัวสร้างทรัพย์สิน กระทั่งเกษียณส่วนใหญ่มีเงินออม เพราะการออมเพื่อที่จะมีใช้ในยามจำเป็นจะทำได้ เมื่อชำระหนี้หรือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563