คาดเฟดตรึงดอกเบี้ยนโยบาย 0.0-0.25%

26 ก.ค. 2563 | 22:28 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.0-0.25% ในการประชุม 28-29 ก.ค.นี้ มองมาตรการที่ดำเนินการอยู่เพียงพอรองรับผลกระทบเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ โดยมองว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วน่าจะเพียงพอที่จะรองรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนแรงและน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว 

 

ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างมากในปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังมีความรุนแรงและยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่ตลาดแรงงานที่อ่อนแรงจะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันอุปสงค์ภายในประเทศต่อไป และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 

 

โดยล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะหดตัวที่ -6.6% YoY และจะกลับมาขยายตัวที่ 3.9% YoY ในปีหน้า ซึ่งมาตรการภาครัฐต่างๆ ทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วน่าจะเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้อยู่ในกรอบที่ IMF คาดการณ์ไว้ โดยที่ผ่านมาเฟดได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงมาตรการทางคลังที่ได้ออกมาแล้ว น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง และส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น่าทรุดตัวลงไปมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรุดตัวลงไปมากกว่าและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฟดก็ยังพอมีทางเลือกในการทำนโยบายเพิ่มเติม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ขณะที่เฟดน่าจะหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ หากยังไม่มีความจำเป็น 
 

ทั้งนี้ นโยบาย yield curve control จะช่วยให้เฟดสามารถรักษาอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปในระยะข้างหน้า โดยเฟดไม่จำเป็นต้องเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์มากเกินควร อันจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีกนัยหนึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลก่อหนี้มากขึ้นผ่านการออกพันธบัตร

 

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลในปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับต่ำทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งเฟดได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้ จึงส่งผลให้ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้นโยบาย yield curve control เพื่อควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนในปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ การนำนโยบาย yield curve control มาใช้อาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น จะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะขัดแย้งกับสิ่งที่เฟดต้องการจะส่งสัญญาณ อีกทั้ง อาจจะก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคาในตลาดพันธบัตร ขณะที่ประสิทธิผลของนโยบาย yield curve control ก็ยังไม่เห็นผลแน่ชัดในประเทศที่มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างเช่นญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ดังนั้น เฟดคงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนนำนโยบายนี้ออกมาใช้ 
 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความเป็นไปได้ที่เฟดจะใช้นโยบาย yield curve control ในระยะข้างหน้ายังมีมากกว่าการใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายของเฟด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะสะท้อนมุมมองทางลบของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลในตลาด และส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ประเทศที่มีการนำนโยบายนี้ออกมาใช้ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่น ญี่ปุ่น รวมถึงอียู ก็ยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจโตในระดับต่ำ ดังนั้น หากยังไม่มีความจำเป็นจริงๆ เฟดน่าจะยังไม่เลือกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ 

 

ทั้งนี้ การประชุมเฟดในรอบ 15-16 กันยายน และ 4-5 พฤศจิกายน จะเป็นรอบการประชุมที่ใกล้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งโดยปกติแล้วเฟดมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในช่วงใกล้ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังความไม่แน่นอนสูงและจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไป ดังนั้น ทิศทางนโยบายของเฟดน่าจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยหากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เฟดอาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือออกนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติมได้ 

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเฟดจะยังมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติม แต่ประสิทธิผลของนโยบายการเงินจะลดลงเรื่อยๆ จึงอาจจะทำให้ต้นทุนส่วนเพิ่มสูงกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนั้น เฟดคงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน โดยปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ยังไม่ดีขึ้นเป็นหลัก ทำให้การออกนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเท่าใดนัก และอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงเท่าที่ควร  อ่านฉบับเต็ม