การระบาดของ โควิด-19 ยังคงสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง ซึ่งไทยเองได้รับผลกระทบในหลายด้านทั้งการลงทุน การบริโภคและการทำการค้าต่างๆ ทำให้ การจัดเก็บรายได้ ของกรมภาษีล่าสุด ทั้ง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และ กรมศุลกากร ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563(ตุลาคม 2562-มิถุนายน 2563) ตํ่ากว่าเป้าหมายทุกกรม
โดยเดือนมิถุนายน 2563 กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 178,341.15 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 99,041.42 ล้านบาทหรือ 35.71% จากที่ตั้งไว้ที่ 277,382.57 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรกจัดเก็บได้ 1,265,316.37 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 238,152.81 ล้านบาทหรือ 15.84% จากที่ตั้งไว้ที่ 1,503,469.18 ล้านบาท
ขณะที่กรมสรรพสามิต เดือนมิถุนายน 2563 จัดเก็บได้ 29,768.79 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 24,186.73 ล้านบาทหรือ 44.83% จากที่ตั้งไว้ 53,955.52 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณได้ทั้งสิ้น 391,890.33 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 95,147.33 ล้านบาทหรือ 19.54% จากที่ตั้งไว้ที่ 487,037.66 ล้านบาท ส่วนกรมศุลกากร 8 เดือนแรกของปีจัดเก็บรายได้รวม 64,000 ล้านบาท ตํ่ากว่าประมาณการ 8,500 ล้านบาท หรือ -11.7%
อย่างไรก็ตามนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของทั้งปีงบ ประมาณ 2563 และปีงบ 64 โดยในปีงบ 2563 ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท แม้การจัดเก็บจริงจะตํ่ากว่าเป้าหมายไปมากก็ตาม เพราะเข้าใจได้ว่า สาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ของ 3กรมภาษี ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมภาษีได้ขยายเวลาการชำระภาษีออกไป ทำให้ปริมาณการจัดเก็บล่าช้าลง
ขณะที่ปีงบ 64 ประมาณการจัดเก็บไว้ที่ 2.67 ล้านล้านบาท ขณะนี้ก็ยังคงตัวเลขดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากต้องดูสถานการณ์ของโควิด-19 ก่อนว่า จะจบลงได้เร็วหรือไม่ ประกอบกับยังเชื่อมั่นว่า กรมภาษียังมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมายอยู่ เพราะที่ผ่านมาแต่ละกรมก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมาโดยตลอด
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า สรรพากรได้พัฒนานโยบายภาษีให้ตรงเป้า ตรงกลุ่ม ตรงใจ ผู้เสียภาษีให้มากที่สุด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในช่องทางการชำระภาษีให้รวดเร็วและคล่องตัวมากที่สุด โดยร่วมกับสตาร์ทอัพและสถาบันการเงินต่างๆเชื่อมข้อมูลกับกรม เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการชำระภาษี รวมไปถึงพัฒนาระบบออนไลน์ให้ง่ายมากขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือ การขยายฐานภาษีให้ประชาชนเข้าถึงการยื่นแบบได้มากขึ้น จากนั้นกรมจะสามารถปรับหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการบชำระภาษีต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้เสียภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
“กรมสรรพากรมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างบริการต่างๆ ที่เชื่อมโยงมายังระบบภาษี (Tax Ecosystem) ผ่าน Platform ต่างๆ และตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรให้ได้ 100% ในทุกด้านภาย 3 ปี จากปัจจุบันที่มีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตสูงถึง 85% และทุกประเภทภาษี 75% และมีผู้ใช้บริการชำระภาษีผ่านสถาบันการเงินและ Non bank ถึง 70%
ส่วนการคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ ในปัจจุบันมีประมาณ 99% สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ 85% สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล”นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่กรมสรรพสามิตจะใช้การจัดเก็บภาษีเบียร์แบบใหม่เป็นตัวอย่าง ก่อนจะพัฒนาการการคำนวณการจัดเก็บภาษีตัวอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะภาษีบุหรี่ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ TOR ร่วมกับผู้ประกอบการนำเข้า ที่จะใช้ระบบ e-stamp ในการติด QR Code บนแสตมป์ ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปและใช้ได้ในเร็วๆ นี้ รวมไปถึงภาษีนํ้ามัน ที่จะใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาบริหารความเสี่ยงนํ้ามันส่งออก ด้วยการทำธุรกรรมทุกอย่างผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการต่อร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หลังปัญหาโควิด-19 จบลง
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี กรมสรรพสามิตยืนยันว่า หากระบบเหล่านี้ได้ใช้เต็มรูปแบบจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษี เพราะจะสามารถลดการรั่วไหลได้ โดยมั่นใจว่าจะทำให้การจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
“ปีนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ ต้องยอมรับว่ารายได้ตํ่ากว่าเป้าแน่นอน ส่วนปีหน้าอาจจะยังได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่บ้าง แต่เชื่อมั่นว่าจากการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บในทุกๆ สินค้าสรรพสามิตนั้น จะทำให้ในปี 2565 ประสิทธิภาพในการจัดเก็บจะสูงขึ้น และเป็นไปตามเป้าที่ได้รับมอบหมายแน่นอน”นายพชรกล่าว
ส่วนกรมศุลกากรได้นำระบบ x-ray มาใช้ 2 ส่วนคือ ตรวจสอบผู้โดยสาร ที่ได้ติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิไปแล้ว และอีกส่วนคือการตรวจจับที่ตู้คอนเทนเนอร์ ที่เป็นระบบฟาสต์สแกน ติดตั้งที่ท่าเรือแหลมฉบังแล้วเช่นกัน ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้ลดการลักลอบการนำเข้าสินค้าได้มากขึ้น
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563