นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 16% มาอยู่ที่ระดับ 85.26 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนก่อน โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่วนปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)
“ผลสำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในระดับ“ทรงตัว” โดยความเชื่อมันกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 87.04 ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลงที่ 83.33 สถาบันในประเทศปรับลดลงที่ 89.47 และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงที่ 83.33 โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ดัชนีอยู่ในกรอบแคบๆ ระหว่าง 1,315—1,377 จุด หลังจากภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของภาคธนาคารซึ่งดีกว่าคาดการณ์ การรายงานข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาไวรัสโควิด-19 และมีปัจจัยฉุดในบางช่วงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ"
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานผลประกอบการบจ.ทั้งของไทยและทั่วโลกที่อาจแย่กว่าคาดการณ์ การประกาศการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2563 ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ในหลายๆ ประเทศ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการแทรกแซงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดลง และผลจากการผ่อนคลายธุรกิจระยะที่ 6 ที่จะเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศไทยได้