หุ้น4สายการบินอ่วม

16 ส.ค. 2563 | 03:26 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2563 | 10:27 น.

กลุ่มสายการบินอ่วม รับพิษโควิด-19 แถมแข่งขันดุเดือด ไตรมาส 2 กอดคอขาดทุนหนัก พร้อมยื่นขอฟื้นฟูกิจการ 2 ราย แบกหนี้รวมกว่า 350,000 ล้านบาท

การปิดน่านฟ้า ปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กลุ่มสายการบิน ต้องสูญเสียรายได้จากผู้โดยสารที่หายไป อีกทั้งการแข่งขันในช่วงที่ผ่านมามีความรุนแรง กระทบผลการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่มีกิจการสายการบินจำนวน 4 บริษัท คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI), บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) มีผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุนทั้งหมด ส่วนบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK) ไตรมาสแรก ปี 2563 ขาดทุนเพิ่มขึ้น และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) คาดว่า จะมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุน 5,339.92 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 6,883.81 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 2,492 ล้านบาท ตํ่ากว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1% ส่วนค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 16,193 ล้านบาท ลดลง 67.4% เป็นผลจากการหยุดบินชั่วคราว และค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงตามมาตรการลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ งวด 6 เดือนแรก ปี 2563 มีผลขาดทุนรวม 28,016.45 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 355% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 6,438.37 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 262,224 ล้านบาท และมีผลขาดทุนเกินทุน 18,228 ล้านบาท อีกทั้งมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้มีผลขาดทุนเกินทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อขออนุมัติจากเจ้าหนี้ ซึ่งความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องมีองค์ประกอบการบริหารธุรกิจหลายด้าน รวมถึงการพิจารณาลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ด้วย

หุ้น4สายการบินอ่วม

“ในไตรมาส 2 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรง อีกทั้งมีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้าน
ผู้โดยสาร ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร เฉลี่ย 10.3% ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6%”

ด้านบจ.ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการอีก 1 บริษัท คือ NOK แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 2,330.05 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 2,025.90 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 304.15 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 31,148.53 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีหนี้สินรวม 36,286.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.68% จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายการหนี้สินตามสัญญาเช่าจากการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 มาใช้เป็นจำนวนเงิน 16,532.15 ล้านบาท

ขณะที่ AAV แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,141.32 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 482.47 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรก ขาดทุนสุทธิ 1,812.80 ล้านบาท ลดลง 12,415% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14.72 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้สิน 52,118.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,904.5 ล้านบาท หรือ 48% 

สำหรับ BA ยังไม่มีการแจ้งผลการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระพัฒนสิน ระบุว่า คาดจะรายงานผลขาดทุนประมาณ 1,581 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อนหน้า 

 

หน้า 14  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,601 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563