โบรกมั่นใจแบงก์มั่นคงรับวิกฤติไหว

05 ก.ย. 2563 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2563 | 10:56 น.

โบรกชี้ งบธนาคารพาณิชย์ผ่านจุดตํ่าสุดแล้ว คาดฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 เชื่อระดับเงินกองทุนของธนาคารในระบบเพียงพอรองรับความเสี่ยง แต่ระวัง NPL ปรับตัวขึ้นช่วงปลายปี

หลังจากมีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า อาจเห็น ธนาคารพาณิชย์ไทย อย่างน้อย 3 แห่ง ล้มละลาย จากการปัญหาภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลงอย่างหนัก โดยราคาหุ้น ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ปรับลดลงมากที่สุดคือ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ลดลง 2.63% แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยธปท. )จะออกมายืนยันว่า ฐานะการดำเนินงานและ เงินกองทุน ของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ได้ดี

 

นอกจากนั้น การที่ กำไรสุทธิ ของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงจาก 5.33 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรกเหลือเพียง 3.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 หรือลดลง 41.84% หลักๆก็มาจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจมีแนวโน้มด้อยลง ประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารลดลงด้วย

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ระบุว่า มุมมองต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2563 คาดว่า จะเห็นการฟื้นตัวของกำไรสุทธิเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยบวกหลักคือ แนวโน้มการตั้งสำรองของธนาคารหลายแห่งผ่อนคลายลง หลังจากตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้แรงกดดันที่จะต้องสำรองเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลังไม่มากนัก

 

ทั้งนี้ เพราะภาพรวมของเศรษฐกิจมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น แต่อาจจะถูกหักล้างด้วย NIM ที่แคบลง จากผลของการปรับ Term ของการรับรู้ดอกเบี้ยรับของลูกหนี้ภายใต้โครงการพักชำระหนี้ ซึ่งทั้งปี 2563 คาดกำไรกลุ่มอยู่ที่ 134,629 ล้านบาท ลดลง 17.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โบรกมั่นใจแบงก์มั่นคงรับวิกฤติไหว

ขณะที่ธปท.ยังระบุว่า การทำ Stress Test ของธนาคารพาณิชย์ไทยพบว่า ระดับเงินกองทุนในปัจจุบันเพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงภายใต้วิกฤติในปี 2563 และอยู่ระหว่างรอผลทดสอบสำหรับปี 2564/65 ที่กำหนดส่งในเดือนตุลาคม โดยมองว่า ด้วยระดับเงินกองทุนของธนาคารในระบบที่ 19.2% เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ เพราะสินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างทรงตัว

 

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีช่องว่างมากพอสมควรเทียบกับเงินกองทุนขั้นตํ่าที่ 12% สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ และ 11% สำหรับธนาคารขนาดกลางและเล็ก 

 

“หุ้นกลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่ Underperform ตลาดอยู่มาก และหลายตัวซื้อขายด้วยระดับ PBV ตํ่าเพียง 0.4-0.6x แต่ด้วยความเสี่ยงที่ NPL จะเริ่มปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีหลังโครงการพักชำระหนี้ทยอยครบกำหนดโครงการในเดือนกันยายน- ตุลาคม ทำให้ยังคงความระมัดระวังและให้นํ้าหนักลงทุนเพียง “Neutral”

 

นายเจษฎา เตชะหัสดิน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2563 คาดว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (NII) และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะลดลง จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้หลายครั้งในครึ่งปีแรก ส่วนคุณภาพสินทรัพย์คาดจะแย่ลง แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อาจไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนถึงไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจากมาตรการบรรเทาหนี้ของ ธปท.

 

“คาดว่า NPL และต้นทุนสินเชื่อจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 3 ปี ส่วนการจะใช้ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 เพื่อชี้วัดว่า ธนาคารใดมีผลการดำเนินงานที่ดีหรือไม่ดี ถือว่าไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากธนาคารทุกแห่งอาจเลื่อนการลดชั้นสินเชื่อในช่วงปี 2563-2564 ออกไป จากมาตรการบรรเทาหนี้ของธปท.”

 

ทั้งนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ได้ปรับลดเป้าหมายทางการเงินลง ซึ่งรวมถึง NIM และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่เพิ่มเป้าต้นทุนสินเชื่อขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยระบุว่าธนาคารต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีกว่า ผลการดำเนินงานจะกลับไปสู่ระดับก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาด

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัดระบุว่า ปัจจุบัน เงินกองทุน ของธนาคารแต่ละแห่งอยู่ที่ 17-22% ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับสูง แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะกลับมาจ่ายเงินปันผลงวดปี 2563 ได้อย่างน้อยที่ระดับตํ่าสุดของ % dividend payout ratio ส่วนการต่ออายุการพักชำระหนี้ ทางธปท.ไม่ได้มีการบังคับให้ใช้เหมือนรอบก่อน ซึ่งมองว่า เป็นผลดีระยะยาวต่อกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ ยังคงนํ้าหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุปดัชนีSETปิดลด 0.86% -ติดตามปัจจัยการเมืองและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

แรงเทขาย ฉุดดาวโจนส์ ปิดร่วง 159.42 จุด

ราคาทอง ร่วงอีก 3.5 ดอลลาร์ ปรับตัวลง 2.1% ในรอบสัปดาห์นี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า จับตา 4ปัจจัย

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,604 วันที่ 27 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563