5 ข้อเสนอ กมธ.เศรษฐกิจฯ แนะรัฐทบทวนประชานิยม-แก้หนี้-ดันลงทุน

23 ธ.ค. 2567 | 20:29 น.

เปิด 5 ข้อเสนอจาก กมธ.เศรษฐกิจฯ "กัมพล สุภาแพ่ง" ชี้แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจถึงรัฐบาล ทบทวนนโยบายประชานิยม-ลดหนี้สาธารณะ กระตุ้นลงทุน พร้อมปรับโครงสร้างภาษี หวั่นเครดิตเรตติ้งไทยถูกลด

นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา เปิดเผยหลังปรับปรุงรายงานฐานะทางการคลังปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 พบว่าการขาดดุลเงินสดต่อจีดีพีและหนี้สาธารณะยังสูงมากต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา

โดยเฉพาะการขาดทุนทางการคลังร้อยละ 4.31 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูง ต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้ง

นายกัมพลชี้ว่า แม้รัฐบาลใช้เงินคงคลังกว่า 116,000 ล้านบาทเพื่อลดการกู้ยืม แต่หนี้สาธารณะยังเพิ่มเป็น 64.44% ของจีดีพี ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำเพียง 2-3% ต่อปี นับเป็นปัญหาต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศยังหยุดชะงัก และรายได้จากภาษีบางส่วน เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เป็นไปตามเป้า

นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา

วินัยการคลังเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

นายกัมพล กล่าวว่า วินัยการคลังของไทยยังไม่เข้มแข็ง ตัวอย่างเช่น การเร่งนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งก่อนกำหนด รวมถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณและประสิทธิภาพในการใช้งบโครงการต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้ง

ข้อเสนอแนะ 5 ด้านเพื่อวางแผนงบฯ ปี 2569

นายกัมพลเสนอให้รัฐบาลจัดทำแผนระยะกลางและยาวใน 5 ด้าน ดังนี้:

  1. บริหารรายได้และงบประมาณ: ควบคุมการเบิกจ่ายเงินและการบริหารเงินนอกงบประมาณให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของรัฐบาล
  2. แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง: ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื้อรัง เช่น หนี้ครัวเรือนและธุรกิจรายย่อย แม้ต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก
  3. ปรับโครงสร้างภาษี: สร้างระบบภาษีที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน
  4. ทบทวนนโยบายประชานิยม: ลดหรือยกเลิกโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เพื่อลดหนี้สาธารณะ
  5. รักษาวินัยการเงินการคลัง: ปฏิบัติตามกรอบวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

นายกัมพลย้ำว่าหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้ง ซึ่งจะกระทบต่อศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว