ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายส่วนของประเทศ เช่น จังหวัดน่านและเลย ทำให้บ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบางส่วนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลในเรื่องภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรที่ประสบภัย
ธ.ก.ส. ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2563/64 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหรือเหตุฉุกเฉินจำเป็นในครัวเรือนวงเงินกู้ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธ.ก.ส.เสนอบอร์ดใช้เงินซอฟต์โลนออมสิน ปล่อย เอสเอ็มอีเกษตรต่อ
ข่าวปลอม ธ.ก.ส.ปล่อย "สินเชื่อฉุกเฉิน" ปี 63 ให้วงเงินรายละ 50,000 บาท
ธ.ก.ส.ลุยปล่อยกู้1แสนล.-ดึงลูกหลานเกษตรคืนถิ่น
ออมสิน-ธ.ก.ส.ดีเดย์ 15 เม.ย.ปล่อยกู้ฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ
และโครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เพื่อเป็นค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือโรงเรือนการเกษตร ซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรกล ทางการเกษตรหรือฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2
นอกจากนี้ยังมอบเงินบำรุงขวัญให้กับครอบครัวลูกค้าผู้กู้ที่เสียชีวิต ครอบครัวละ 20,000 บาท พร้อมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าเรือ ค่าเช่ารถบรรทุกหรือค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
สำหรับการฟื้นฟูภายหลังประสบภัย ธ.ก.ส. ยังได้เตรียมเงินสมทบสร้างบ้านหลังใหม่ รายละไม่เกิน 20,000 บาท ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้ที่จำเป็น รายละไม่เกิน 2,000 บาท ค่าซ่อมแซมเครื่องจักรกลทางการเกษตร รายละไม่เกิน 2,000 บาท และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูหลังประสบภัย
พร้อมทั้งมอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ที่ประสบภัยออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเกษตรกรลูกค้าและสำรวจความเสียหาย พร้อมจัดถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคในรายที่จำเป็น รวมถึงสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลในพื้นที่เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อนโดย ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2563 ได้จ่ายสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ไปแล้วเป็นเงิน 275 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 5,747 ราย สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัย เป็นเงิน 4,093 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 23,403 ราย และสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 เป็นเงิน 2,073 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 13,931 ราย