เข้าเดือนสุดท้ายของ ปีงบประมาณ 2563 ท่ามกลางการระบาดของของ ไวรัสโควิด-19 แม้จะคลี่คลายลง แต่รัฐบาลยังต้องใช้เงินงบประมาณในการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกมาก นอกจากเงินงบประมาณปี 2563 ที่จะต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 4.69 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีเงินกู้ตามพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินอีกไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ล่าสุดยังพบว่า วิกฤติิที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงอนุมัติให้เพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาล กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อีก 2.14 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า จะทำให้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปรับเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี
แม้ว่าการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังจะกู้ไปเพียง 3.18 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายไปเพียง 2.95 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนวงเงินที่เหลือก็คาดว่า จะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามความต้องการใช้เงินของรัฐบาลในแต่ละโครงการ นอกจากนั้นยังมีเงินงบประมาณตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ที่โอนไปอยู่ในงบกลาง 8.8 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องใช้ให้หมดภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 ก่อนสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งมีกระแสข่าวว่า มีการจัดทำโครงการต่างๆ จากฝั่งส.ส.พรรครัฐบาล เพื่อยื่นขอใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก
แหล่งข่าวจากสำนักงบประมาณเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอใช้งบกลางจะต้องมาจากส่วนราชการเป็นผู้ยื่นเสนอขอใช้งบประมาณ และต้องเข้าเงื่อนไขการขอใช้งบกลางด้วยว่า จะต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และฉุกเฉิน อย่าง กรณีการของบเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนํ้าท่วมก็สามารถทำได้
ส่วนประเด็นความกังวลต่อสัดส่วน หนี้ต่อจีดีพี ที่เพิ่มขึ้นจนเกินกรอบวินัยการคลังนั้นที่ผ่านมา นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.อยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายหนี้สาธารณะปีนี้ใหม่ ซึ่่งคาดว่า จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพิ่มเล็กน้อยจากปัจจุบัน 45.83% มาอยู่ที่ 52.4% ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2563 จากเดิมที่คาดว่า จะอยู่ที่ 51.64% ขณะที่ปี 2564 ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 57.8% ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่มีเพดานไม่เกิน 60%
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวได้ 4-5% ซึ่งหากเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลง ฉะนั้นจึงไม่น่าห่วงว่าจะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะเกินเพดานที่กำหนดไว้
“เท่าที่เราคาดการณ์ไว้ประมาณ 4-5% ซึ่งตัวเลขนี้ประเมินหลังจากเกิดโควิดแล้ว ซึ่งหากจีดีพีโตได้ตามนี้ หนี้สาธารณะก็จะถูกลดทอนไปตามสัดส่วน ก็ไม่ได้น่าห่วงอะไรมาก”
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จะหดตัว 10% จากเดิมหดตัว 6% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นแบบ U-Shaped ดังนั้นการประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงฐานของตัวยู ต้องชั่งนํ้าหนักระหว่างการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้ทันเหตุการณ์ในสภาวการณ์ที่ไม่นิ่งกับต้นทุนในการออกมาตรการ เช่น หนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้แนวโน้มรัฐบาลมีแผนใช้จ่ายในการฟื้นเศรษฐกิจและจ้างงาน จึงยังไม่กังวลต่อระดับหนี้สาธารณะในขณะนี้ โดยระยะข้างหน้ารัฐบาลจะมีเม็ดเงินหน้าตักราว 4.5% ของจีดีพี ซึ่งมาจาก 3 ก้อนคือพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออีก 50%, พ.ร.บ. โอนงบปี 2563 เกือบ 1 แสนล้านบาทและพ.ร.บ งบประมาณปี 2564 อีก1.4 แสนล้านบาท
“โจทย์ที่ยากขึ้นของภาครัฐไม่ว่าจะมีมาตรการใดย่อมมีต้นทุน หากทำน้อยเกินไป การใช้งบก็ไม่ทั่วถึง แต่หากมากเกินไป ก็กระทบหนี้สาธารณะ ดังนั้นจะต้องสร้างความสมดุล ภายในสิ้นปีนี้ หากจำเป็นต้องกู้เพิ่มก็สามารถขยับหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบ 52-54% ปีหน้าและปีถัดไปขยับให้อยู่ในกรอบ 57-60% เพราะถ้าสถานการณ์จำเป็นจริงๆ ก็สามารถผ่อนปรนในการกู้เพิ่มได้”
ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศได้รับความเดือดร้อนเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก ต้องมีการใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทยดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเกิน 60% ของจีดีพี ก็ย่อมสามารถทำได้ เพราะโควิดเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หน้า 13 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2563