ระหว่างที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการชำระเงินเข้าทดสอบและพัฒนานวัตกรรมด้วยแทคโนโลยีใหม่ในวงจำกัด เช่น การใช้ เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าทางดิจิทัลข้ามธนาคาร สำหรับการเปิดบัญชีเพื่อยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้าของตน( e-KYC ) โดยอยู่ในขั้นตอนที่ ธปท.ประเมินผลก่อนจะอนุญาตให้ออกจาก Regulatory Sandbox เพื่อเปิดให้ใช้บริการในวงกว้าง
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนสำหรับค่าธรรมเนียมในการขอใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลจากสถาบันการเงินอื่นนั้น แม้ว่าจะหารือกันไปหลายรอบแล้ว เบื้องต้นจะเริ่มต้นกำหนดค่าธรรมเนียม 100-200 บาท ขึ้นกับระดับการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนนอกจากนั้นยังมีประเด็นธนาคารขนาดใหญ่ที่อาจจะเสียฐานลูกค้า จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจชาร์จหรือคิดค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผล
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุว่า นอกจากค่าธรรมเนียมกลางในการใช้ฐานข้อมูลดิจิทัล ทางบริษัท National Digital ID หรือ NDID จะกำหนดราคากลางออกมา แต่การทำรายการระหว่างสถาบันการเงินหรือต่างสถาบันการเงินหรือธนาคารทำ e-KYC จะคิดค่าธรรมเนียมระหว่าง 150-200 บาทต่อการทำรายการ 1 ครั้ง เพราะหากธนาคารทำ e-KYC ต่างธนาคาร อีกธนาคารจะเสียฐานลูกค้าไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หลายธนาคารเริ่มทำตลาด สินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending)เช่น ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าสินเชื่อ digital lending ปี 2563ไว้ที่ 8 หมื่นล้านบาทผ่านแอพ SCB easy ธนาคาร กสิกรไทย ตั้งเป้า 1 แสนล้านบาท ผ่านแอพ K Plus ส่วนธนาคาร กรุงศรีอยุธยา ไม่ระบุเป้าตัวเลขชัดเจน แต่เปิดให้ลูกค้าที่เดินบัญชีเงินเดือนและมีแอพ KMA สมัครสินเชื่อ Krungsri iFIN
นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือปีนี้ จะเน้นทำตลาดผ่านออนไลน์มากขึ้น จากพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่(ฟินเทค)เข้ามาทำตลาดเกี่ยวกับสินเชื่อออนไลน์ เพื่อให้บริการฐานลูกค้าของตัวเอง แต่ในกลุ่มธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ยังเปิดให้บริการไม่มากนัก
ในส่วนของกรุงศรีคอนซูเมอร์ ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการผ่านออนไลน์เพิ่มมาประมาณ 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับสมัครผ่านออนไลน์ แต่ยังจัดเก็บเอกสารช่องทางปกติ ไม่ใช่ดิจิทัล เลนดิ้งเต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งเพราะระบบ Digital ID หรือ NDID เลื่อนจากที่จะให้บริการในไตรมาส 3 ปีนี้ไปเป็นไตรมาส4 ดังนั้นบริษัทเองก็จะมีแผนที่รองรับลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
“ในส่วนของบริการ e-KYC ผ่านระบบ NDID ยังอยู่ระหว่างตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมระหว่างผู้ให้บริการฐานข้อมูลดิจิทัลกับผู้ขอใช้ฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อยืนยันและพิสูจน์ตัวตน ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับประชาชนผู้ขอสินเชื่อ ขณะที่ผู้ให้บริการยืนยันและพิสูจน์ตัวตน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบบน Sandbox ของธปท.”
นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารเพิ่งเริ่มทำตลาดบริการสินเชื่อออนไลน์ประเภทสินเชื่อบุคคล ซึ่งต้องหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ โดยเจาะฐานลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ซึ่งเป็นช่องทางเพิ่มฐานลูกค้าให้กับธนาคาร
“ปีนี้เป็นการทดสอบตลาดสินเชื่อออนไลน์ โดยให้ลูกค้าสมัครผ่านแอพพลิเคชั่น ส่วนใหญ่ใช้แอพรับสมัครและจัดส่งเอกสารแบบออฟไลน์ ซึ่งการทำตลาดดิจิทัล เลนดิ้ง ต้องขอใบอนุญาตดิจิทัล เลนดิ้งจึงจะทำได้ โดยน่าจะออกจากแซนบ๊อกซ์ของธปท.ไตรมาส3 ปีนี้ แต่จะเริ่มเห็นการทำธุรกรรมเต็มรูปแบบในต้นปีหน้า โดยซีไอเอ็มบี จะเริ่มจากการยืนยันตัวตน เพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก หากมีระบบ NDID ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนหรือ e-KYC จากฐานข้อมูลดิจิทัลธนาคารอื่นได้ โดยไม่ต้องมาที่สาขาหรือเซเว่น อีเลฟเว่น”
บริษัท อิออนธนสินทรัพย์ ไทยแลนด์ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า บริษัทพยายามมุ่งทำตลาดออนไลน์มากขึ้นในปีนี้ตามแนวโน้มของตลาดและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ยังไม่ถึง 10% แต่ภายในสิ้นปี 2563 นี้ อยากเห็นสัดส่วนเพิ่มเป็น 30-40% โดยพยายามทำผ่าน โมบาย แบงก์กิ้งและบริษัทอยู่ระหว่างทดสอบใน Sandbox และได้แก้ไขตามคำแนะนำของธปท. ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากธปท.แล้วหรือไม่ติดขัดประเด็นใด น่าจะผ่านกระบวนการทดสอบในปีหน้า แต่กรณีออกจากแซน บ๊อกซ์นั้น ขึ้นกับธปท.จะอนุมัติค่าธรรมเนียม 200 บาท
ทั้งนี้ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ อิออนได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่คือ Shopee และ Grab Food เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในช่องทางออนไลน์และยังเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าอีกด้วย อีกทั้ง ออกแคมเปญ AEON Shop More Get More รับเครดิตเงินเมื่อมียอดใช้จ่ายสะสมผ่านบัตรเครดิตอิออนตามเงื่อนไขทีกําหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดิจิทัลไอดี กดปุ่มบริการ ต้นปี64
"สธค.โรงรับจำนำของรัฐ"ขยายโปรดอกเบี้ยถูก ถึงสิ้นปี 63
ทำความรู้จัก THOR อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ของไทย
ธปท.ย้ำยุติการใช้ดอกเบี้ย LIBOR ผลกระทบไทยวงจำกัด
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563