ต่างชาติเทหุ้นไทย 9 เดือน 2.76 แสนล้าน

11 ต.ค. 2563 | 03:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2563 | 10:42 น.

นี้นับว่าเป็นปีแห่งความผันผวนของสินทรัพย์ด้านการลงทุนทั้งหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำ สินทรัพย์อย่างหุ้น เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในระยะยาว แต่ผลตอบแทนที่สูงก็มากับความผันผวนเช่นกัน

ผ่านมา 9 เดือนแล้ว สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งยังคงผันผวนไม่หยุด จากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ ที่พร้อมเกิดแรงกระแทกได้ตลอดเวลา ถึงแม้สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยจะคลี่คลายและมีมาตรการต่างๆ จากรัฐบาลมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในต่างประเทศยังคงมีการติดเชื้อต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ และนักลงทุนยังมองถึงความเสี่ยงในหลายปัจจัย ทำให้เกิดการชะลอซื้อขาย เพื่อรอประเมินสถานการณ์ต่างๆ ให้มีความมั่นใจว่าลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)พบว่า ดัชนีหุ้นไทยช่วง 9 เดือน ปี 2563 ปรับลดลง 342.80 จุด หรือ 21.69% ปรับลดลงมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 73.34 จุด หรือ 4.68%

 

โดย 9 เดือนปีนี้มีความผันผวนของดัชนีที่ 576.02 จุด จากดัชนีตํ่าสุดของปีอยู่ที่ 1,024.46 จุด และดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,600.48 จุด


ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนผันผวน 180.88 จุด จากดัชนีตํ่าสุดที่ 1,560.03 จุด และดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,740.91 จุด ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 9 เดือนปีนี้ลดลง 3,309,245.29 ล้านบาท และช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 941,149.22 ล้านบาท 

ต่างชาติเทหุ้นไทย 9 เดือน 2.76 แสนล้าน

สอดคล้องกับที่นายศรพล ตุลยะเสถียรรองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.ระบุว่า เดือนกันยายน 2563 นักลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี

 

ส่วนนักลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 276,000 ล้านบาท และนักลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่การระดมทุน 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่าระดมทุน (IPO) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปีพบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่าดัชนีหุ้นไทย รวมถึงยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Non-SET100 และ mai) ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยกดดัน 5 ปัจจัย คือ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบสอง, การเลือกตั้งในสหรัฐ, การเมืองไทย, การปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันเพื่อเตรียมซื้อหุ้นไอพีโอ SCGP ก่อนเข้าจดทะเบียน และการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor และ Short Sell กลับมาปกติ แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ล้นระบบอยู่ที่ประมาณ 15.57 ล้านล้านบาท สูงกว่ามาร์เก็ตแคปที่อยู่ที่ 13.72 ล้านล้านบาท ซึ่งหากปัจจัยกดดันเริ่มผ่อนคลายลง คาดว่ากระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย

 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปี 2564 อยู่ที่ 1,450 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวได้ดีหลังกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผ่านพ้นจุดตํ่าสุด ทำให้ Upside เริ่มเปิดกว้างขึ้น รวมถึงมุมมองการประเมินมูลค่าเริ่มนิ่ง จากการปรับลด EPS ปี 2563 และ 2564

 

นอกจากนี้ คาดว่ากำไรบจ.ปีนี้จะอยู่ที่ 613,000 ล้านบาท หรือ 56.65 บาทต่อหุ้น หลังจากกำไรครึ่งปีแรกรวมอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสเป็นไปได้ที่กำไรจะเฉลี่ยที่ไตรมาสละ 200,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 คาดว่าอยู่ที่ 785,000 ล้านบาท หรือ 72.51 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

“ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มองว่าหุ้นในกลุ่มขนาดกลางและเล็ก มีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ รวม NVDR ถือครองหุ้นไทยเพียง 25.60% ถือเป็นระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งในช่วงปลายปีนี้ ยังขาดแรงซื้อจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่หมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นปีแรก จากปกติจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาพบว่ามีบัญชีนักลงทุนรายย่อยเปิดบัญชีใหม่ประมาณ 510,000 บัญชี จากปกติเฉลี่ยปีละ 300,000 บัญชี”

 

ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มูลค่าหุ้นในตลาดหุ้นไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไทยยังเน้นกลุ่มบริการ และท่องเที่ยว แต่หุ้นที่เกิดใหม่และมีขนาดใหญ่หลังเกิดโควิด-19 ในตลาดหุ้นสหรัฐ คือ กลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งไทยต้องมีการปรับตัวในระยะยาวทั้งในเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยี ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่ง   

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,617 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563