ผู้ว่าธปท.คนใหม่ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ยกบทเรียน วิกฤติปี40 ชี้การแก้ปัญหาจากภาครัฐ มีความสามารถในการจัดการที่จำกัดและลดลง และมีต้นทุน หากสาดกระสุนไป โดยขาดความแม่นยำอาจกลายเป็นผลลบ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้เหตุนโยบายมีต้นทุนและผลข้างเคียง
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ หลังจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 20 ครบวาระ 5 ปี และส่งไม้ต่อให้กับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 เป็นผู้สานต่องานของแบงก์ชาติ
BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ จะพาทุกท่านมารู้จักดร.เศรษฐพุฒิ กันให้มากขึ้น ทั้งเส้นทางชีวิตและแนวคิดการทำงาน รวมถึงมุมมองต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
นายเศรษฐพุฒิเล่าว่า ด้วยคุณพ่อทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ ทำให้ต้องย้ายไปที่ออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 2 เดือน จากนั้นก็เดินทางไปอยู่อีกหลายประเทศ ทั้งอินเดีย โปแลนด์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ซึ่งในบรรดาประเทศต่างๆ ที่เคยมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่นั้น ชอบฝรั่งเศส มากที่สุด
“อาจเพราะเป็นช่วงชีวิตที่กำลังอยู่ในช่วงมัธยมปลายด้วย ทำให้ผมมีความทรงจำที่สนุกมาก ประกอบกับวิวทิวทัศน์ที่สวยและวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ และจากการที่ต้องย้ายไปหลายประเทศในวัยเด็ก ทำให้ผมต้องหาเพื่อนใหม่ตลอดเวลา และต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ส่วนจุดเริ่มต้น ความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่แน่ใจว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะตอนเด็กๆ ไม่ใช่เด็กเรียนและดูจะสนใจกีฬามากกว่าด้วยซ้ำ วิชาที่ชอบในตอนนั้น จะเป็นแนววิทยาศาสตร์ ชีววิทยาและคณิตศาสตร์ จนกระทั่งย้ายไปเรียนที่ฝรั่งเศส ในวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป
ซึ่งอาจารย์สอนเก่งมาก เขาไม่ได้สอนให้ท่องจำ แต่เป็นการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มสนใจวิชาที่เป็นแนวสังคมศาสตร์ ประกอบกับความชอบคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐาน ทำให้ตัดสินใจเรียนเศรษฐศาสตร์ในที่สุด
หลังเรียนจบ เริ่มต้นการทำงานที่ McKinsey ที่ New York ซึ่งช่วยหล่อหลอมทัศนคติและวิธีการทำงานให้ จนทุกวันนี้ เรื่องแรกคือ วัฒนธรรมการ debate คือ หากต้องการจะระดมความคิดกัน ไม่สำคัญว่า จะอยู่ในตำแหน่งอะไร เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หน้าที่ของเราคือการถกเถียงกันเพื่อปิดช่องว่าง และให้แน่ใจว่า เราได้ผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้กับลูกค้า
เรื่องที่สอง คือ โครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเลือกใช้คนจากทุกทีมได้โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์กับงานมากที่สุด ไม่ต้องยึดติดกับโครงสร้างหรือสายงาน ภาษาที่ McKinsey ใช้คือ "one firm concept" คือ รูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ไม่หลงทาง มีแนวทางที่ชัดเจน และไม่ว่าจะทำงานที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือสาขาใด ก็สามารถต่องานกันได้เหมือนพูดเข้าใจในภาษาเดียวกัน
นอกจากนั้น การทำงานที่ธนาคารโลกยังเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของนายเศรษฐพุฒิ โดยเฉพาะสำหรับการต่อยอดงานที่แบงก์ชาติ เพราะทั้งสององค์กรมีอะไรคล้าย ๆ กัน ประกอบกับประสบการณ์ที่เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขณะเดียวกันก็เคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ด้วย ทำให้ผู้ว่าการท่านใหม่เข้าใจถึงความท้าทายในการทำงานของคนแบงก์ชาติได้เป็นอย่างดี
"ลักษณะโดดเด่นที่เหมือนกันของคนแบงก์ชาติและธนาคารโลก คือมีความเป็น technocrat หมายถึง ละเอียด เชี่ยวชาญ ลงลึกรู้จริง แต่เพราะเรามีเวลาและข้อมูลที่จำกัด โดยเฉพาะในยามที่เราต้องเร่งเยียวยาแก้ไข จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์ 100% ยกตัวอย่างสมัยทำงานที่ธนาคารโลก รายงานบางอย่างก็รู้สึกเหมือนเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ทำเพื่อเก็บไว้มากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย”
ดังนั้น การทำสิ่งที่ถูกต้องและให้ถูกเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรียกว่า getting the right things right หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคนแบงก์ชาติไม่ใช่นักวิจัยที่อยู่ในห้องแล็บ แต่มองว่า เราคือหมอที่มีคนไข้ที่รอการรักษาและต้องทำอะไรบางอย่าง เราเป็นหน่วยงานที่ต้องผลิตนโยบายที่ work และใช้ได้จริงแต่ไม่ได้ผลิต work of art"
จากประสบการณ์การแก้วิกฤติปี 40 สู่มุมมองต่อ วิกฤติโควิด 19 นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า วิกฤติปี 40 อาจเป็นเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคนแบงก์ชาติมากกว่า เพราะเกิดกับสิ่งที่อยู่ในความดูแล เช่น สถาบันการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งครั้งนั้นยังพอมีตำรา มีเครื่องมือที่ช่วยแก้ไข
แต่ครั้งนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันหมดทั้งโลก ครั้งนี้จึงหนักกว่าปี 40 ซึ่งแก้ได้ยากกว่า เพราะผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างและลงลึกไปถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งความคาดหวังจากภายนอกต่อธปท.สูงขึ้น และบางอย่างก็อยู่นอกเหนือความสามารถของเราเองด้วยซ้ำ
“ครั้งนี้จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ใดทางแก้หนึ่งเป็นสูตรสำเร็จ ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งเราต้องสื่อสารให้เข้าใจว่าความท้าทายนี้หนัก ยาก ยาวนาน แต่แก้ได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา”
อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากปี 40 คือ การแก้ปัญหาจากภาครัฐ จะทำมากเกินไปไม่ได้ เพราะภาครัฐมีความสามารถในการจัดการที่จำกัดและลดลงด้วยในปัจจุบัน รวมถึงนโยบายมีต้นทุนและผลข้างเคียง หากสาดกระสุนไปโดยขาดความแม่นยำอาจกลายเป็นผลลบ เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นแล้วอาจไม่เหลือกระสุนให้ใช้ ซึ่งหากสังคมขาดความเชื่อมั่น ก็จะทำให้องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกนโยบายทำงานยากขึ้นหลายเท่าเช่นกัน
ฝากทิ้งท้าย...ถึงชาวแบงก์ชาติ
ก่อนจบการสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ ได้เผยถึงเคล็ดลับในการทำงานที่ใช้เป็นประจำให้กับคนแบงก์ชาติ 2 เรื่องด้วยกัน
1. Step Back and Work Backwards
เวลาจะทำอะไร ผมจะถอยหลังกลับมามองก่อนทุกครั้งว่า สิ่งที่อยากได้จากงานที่กำลังทำคืออะไร (intended outcome) โดยอาจลองหมุนตัวเองไปมองจากมุมของคนนอก ทั้งมุมมองของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกค้า สังคม หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง ว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วเขาจะเรียกว่า สำเร็จ และอะไรคือสิ่งที่ถ้าเราไม่ทำจะเรียกว่า ล้มเหลว มันจะช่วยให้เราพอเห็นภาพว่าสิ่งที่เขาคาดหวังคืออะไร แล้วเราได้จัดสรรทรัพยากรของเราตามลำดับความสำคัญนั้นหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงเรามักเสียเวลาไปกับอะไรที่ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จขององค์กร
นอกจากนี้ ควรเริ่มจากผลลัพธ์เป้าหมาย แล้วค่อยถอยกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าอยากได้แบบนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเราปรับฟอนต์ ปรับสี PowerPoint จะกระทบกับการตัดสินใจของลูกค้าหรือผู้บริหารของเราไหม ซึ่งหากเรากระโจนเข้าไปทำโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ สุดท้ายอาจทำให้สับสนว่าอะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องทำ (Need to have หรือ Nice to have)
2. Teamworks
"มีคำพูดหนึ่งของ Garry D. Brewer ที่ผมยังจำได้จนวันนี้ 'The world has problems, but universities have departments' ที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันว่า โลกมีปัญหาแต่หากเรายังแก้ปัญหาไปตามหน้าที่ ยึดติดกับฝ่าย กับแผนก คงไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เราเจอทางออกได้ ผมไม่อยากให้มองปัญหาแบบแยกส่วน ไม่อยากให้วัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในการทำงาน เราต้องมองให้เห็นภาพกว้าง รู้รอบ ทำงานแบบเข้าใจกันและกัน โดยเปลี่ยนจาก 'กำหนดวิธีการ' ไปเน้นที่ 'กำหนดเป้าหมายร่วมกัน' แล้วเดินไปในทิศทางเดียวกัน
"จากที่เคยผมเคยสัมผัสและร่วมงานกับแบงก์ชาติมา ผมชื่นชมเสมอว่าคนที่นี่เก่งและมีพลังมาก เป้าหมายที่อยากจะชวนชาวแบงก์ชาติมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำต่อจากนี้ คงเป็นเรื่องที่ทำยังไงจะรักษาข้อดีของที่นี่เอาไว้ คือ ความรู้ลึกรู้จริง ความเป็นคนเก่งที่มีพลัง โดยที่ยังมีความยืดหยุ่นในการทำงานได้ และมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อประเทศ ผมเข้าใจว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็เชื่อว่าทุกคนช่วยกันทำให้เกิดขึ้นได้ และเราน่าจะอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นร่วมกัน"
3 ข้อที่จะทำให้คุณรู้จัก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ธปท.โล่งใจลูกหนี้ไม่"ตกหน้าผา"หลังมาตรการช่วยเหลือครบ
ธปท.เล็งออกแพ็กเกจช่วยลูกหนี้และแบงก์
คลัง จี้ ธปท.สรุป ยืดเวลาพักชำระหนี้
นายกฯ สั่งธปท.ร่วมเอกชนปรับโครงสร้างหนี้ 6 ล้านล้าน ช่วงล็อกดาวน์