ธปท.ระดมขุนพลผ่าทางตันสู้โควิด

22 ต.ค. 2563 | 22:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2563 | 12:39 น.

ธปท.เร่งปรับปรุงโครงหน้าหนี้ครัวเรือนเชิงรุก –ย้ำการพักหนี้แบบปูพรมไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับลูกหนี้

ธปท.เร่งปรับปรุงโครงหนี้เชิงรุก –ย้ำการพักหนี้แบบปูพรมไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับลูกหนี้ –แจงถ้าแช่แข็งไว้นานโอกาสจะกลายเป็นเอ็นพีแอลสูง-เผยอยู่ระหว่างดูความเหมาะสมก่อนออกมาตรการเพิ่ม-เน้นต้องมีความยืดหยุ่น เครื่องมือครบพร้อมแก้ปัญหาครบวงจร

  นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “มหกรรมการเงินครั้งที่ 20 โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อย ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์โควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีประมาณไตรมาส3ของปี2565 ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา  1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบัน มีภาระหนี้สูง จนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการศึกษาของธปท.และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ล่าสุดพบว่า 
-  คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้  โดยส่วนมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต 
-    นอกจากนี้ คนไทยเป็นหนี้นาน โดย 80% ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท
 

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 80% ต่อจีดีพี เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธปท.จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน
-    สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ มีการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน
-    สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง
    

นายเศรษฐพุฒิให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มยังเพิ่มต่อ  เพราะครัวเรือนมีศักยภาพในการชำระหนี้ลดน้อยลง   เนื่องจากรายได้ไม่เติบโตเท่าที่ควร เห็นได้จากจำนวนชั่วโมงการทำงานและการทำงาน  โดยปัญหารอบนี้คาดว่าจะใช้เวลานาน 2ปีกว่าที่กิจกรรมทางแศรษฐกิจและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)จะกลับมาเท่ากับระดับช่วงก่อนวิกฤติโควิดเกิดคือ น่าจะเห็นประมาณไตรมาส3ปี 2565 ทั้งนี้ รายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบจากโควิดซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือน  โดยช็อคจากโควิดที่ส่งผลกระทบหนักต่อการท่องเที่ยวและส่งออก ซึ่งเรื่องท่องเที่ยวจะกระทบหนี้ครัวเรือนค่อนข้างมาก เพราะภาคบริการท่องเที่ยว  โรงแรม  ร้านอาหาร  ขนส่ง  การค้าเหล่านี้ล้วนเป็นเซ็กเตอร์ที่มีการจ้างงานมาก ขณะที่การส่งออกแม้ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ  แต่พวกอิเล็คทรอนิกส์  ยานยนต์ ปิโตรเคมี  ทั้ง 3กลุ่มนี้รวมกันมีน้ำหนักการส่งออกประมาณครึ่งหนึ่ง ของการส่งออกไทย  แต่น้ำหนักในการจ้างงานน้อยกว่า 4% 
“  สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากกับประชาชน คือ การพักหนี้แบบปูพรมไม่ได้เป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับลูกหนี้  เพราะดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่ สิ่งที่เป็นห่วง ถ้าพักหนี้แบบเหมาเข่งเหมือนแช่ไว้ นานไปจะบอลลูนเยอะ เพราะการพักหนี้ยาวทำให้การติดต่อระหว่างสถาบันการเงินกับลูกหนี้ขาดหายไป ซึ่งโอกาสที่ลูกหนี้จะมีปัญหากลายเป็นเอ็นพีแอลสูงขึ้น”
อย่างไรก็ตาม  ผู้ว่าการธปท.ยอมรับว่า การดูแลลูกหนี้เป็นความจำเป็น  แต่อยากให้ดูเป็นกลุ่มตามความจำเป็น  แยกแยะออกมา ใครที่ชำระหนี้ได้ควรจะชำระเพื่อลดภาระหนี้ลง    ส่วนใครที่ชำระไม่ได้ขอให้ติดต่อกับทางสถาบันการเงินเพื่อหาทางออก ซึ่งอาจจะตัดดอกตัดต้นเพื่อความเหมาะสม และธปท.เองก็มีคลินิกแก้นี้พร้อมที่จะช่วยเหลือ 
ต่อข้อถามสำหรับมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจนั้น  ผู้ว่าธปท.ระบะว่า ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้ใช้เวลายาวนาน จึงมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่ม  โดยเวลานี้กำลังพิจารณาตามความเหมาะสม  แต่ที่สำคัญวิกฤติรอบนี้มีความไม่แน่นอนสูงและใช้เวลานาน  ดังนั้นมาตรการที่จะออกมาต้องมีความยืดหยุ่น และมีเครื่องมือครบถ้วนเพื่อที่จะแก้ปัญหาอย่างครบวงจร  
“เราดูอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ละเลยเรื่องนี้  แต่เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต้องแก้ให้เร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้เกิดขี้น  ส่วนที่บอกว่ามาตรการการคลังควรจะเป็นพระเอกนั้น อย่าไปตีความว่า  ให้กองหน้า แต่กองหลังไม่ทำหน้าที่คือต้องทำงานร่วมกันแต่ต้องเข้าใจบทบาทที่แตกต่างกันไป   อย่างปัญหาที่เห็นในระดับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น  คือ อุปสงค์ในระบบหายไปเยอะจากการที่ภาคท่องเที่ยวและส่งออกหาย  ซึ่งการที่จะเอาอุปสงค์กลับมาก็ต้องมาจากการบริโภค การลงทุน แต่กองหน้าส่วนหนึ่งก็จะเป็นภาครัฐ กระทรวงการคลัง   กระทรวงอื่นๆ  บริษัทเอกชน  หรือธนาคารพาณิชย์ที่จะช่วยปล่อยสินเชื่อ โดยหน้าที่ของธปท.เหมือนกับ  Make Sure ว่าระบบสถาบันการเงินทำงานได้มีเสถียรภาพ  ปล่อยสินเชื่อได้เพื่อให้ภาคเอกชนและภาครัวเรือนเดินต่อไปได้  ไม่ใช่การไปสร้างถนน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าธปท. เปิด 5 โจทย์ใหญ่แบงก์ชาติแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

-ธปท.โล่งใจลูกหนี้ไม่"ตกหน้าผา"หลังมาตรการช่วยเหลือครบ