เมื่อเร็ว ๆนี้ ไอเอ็มเอฟ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยคาดจะหดตัว7.1% จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะติดลบถึง 7.7% และคาดจะกลับมาขยายตัวที่ 4% ในปี 64 โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ระบุว่า เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการที่ไทยได้ปลดล็อกดาวน์ หลังสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงมาตรการรัฐที่ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดจากสถานการณ์โควิด-19 วิกฤติสุดในช่วงต้นปี ( จีดีพีไตรมาส 2/63 หดตัว 12.2% ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ) และด้วยมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐผ่านโครงการต่างๆใช้วงเงินรวมร่วม 5 แสนล้านบาท ( แหล่งเงินจากพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ) เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขุนคลังเชื่อ เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วกว่าหลายประเทศ
IMFเตือนศก.เอเชียลำบากหนัก ติดลบเพิ่มขึ้นที่ -2.2%
ผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจไทย
"อาคม"ชู 5 มาตรการฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น
ขณะที่ภาคส่งออกไทยเริ่มเห็นสัญญาณบวก จากส่งออกในเดือนก.ย.63 ที่หดตัวน้อยกว่าคาด ติดลบ 3.9% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ติดลบ 7.3% ล่าสุดกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการการส่งออกในปีนี้ในกรอบ ลบ 8% ถึงลบ10% ดีขึ้นจากเดิมที่ติดลบ10% ถึงลบ12%
*ท่องเที่ยวสัดส่วน 12%ของจีดีพี เดี้ยง !
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณดีขึ้น แต่การฟื้นโดยรวมยังไม่มั่นคง ปัจจัยหลักคือ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคิดเป็น 12% ของจีดีพียังไม่ได้ฟื้นตาม
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการพบสื่อมวลชนหลังรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 ว่า วิกฤตโควิด19 เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ลุกลามและส่งผลกระทบเชื่อมโยงกันทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักพร้อม ๆ กันในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องล็อกดาวน์จนมีผลกระทบถึงผู้ประกอบการและประชาชนจำนวนมาก
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีคาดจะเหลือเพียง 6.7 ล้านคน จากเดิมที่ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน คิดเป็นรายรับที่หายไปถึงประมาณ 10 % ของจีดีพี การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีอัตราการหดตัวหนักที่สุดในรอบ 11 ปี เปรียบเสมือนอาการของผู้ป่วยหนักที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
สอดคล้องนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า"เศรษฐกิจไทยอาจจะดีขึ้นจากตอนต้นปี ที่เป็นช่วงสถานการณ์โควิดของไทยวิกฤติที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบไม่มั่นคง เพราะแม้ว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้น แต่การท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ โดยประเมินว่ากว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาสู่ระดับ 40 ล้านคนเหมือนในอดีต อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี ถึงจะเห็นระดับนักท่องเที่ยวใกล้กับก่อนโควิด-19
"ภาพรวมขณะนี้ยังอยู่ในลักษณะ “ติดตามสถานการณ์” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคลัง การเบิกจ่าย สถานการณ์การเมือง การเริ่มเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว การคิดค้นวัคซีนต้านโควิด เพราะฉะนั้น ยังอาจไม่มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความมั่นใจได้อย่างมีนัยสำคัญ" โดยธนาคารสแตนดาร์ด ฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้หดตัวมากขึ้น เป็นลบ 8.0% จากเดิมคาดติดลบ 5%"
* "การเมือง" ซ้ำเติมสถานการณ์โควิด-19
เศรษฐกิจไทยช่วงโค้งท้ายต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง สถานการณ์การเมือง การชุมนุมที่ยืดเยื้อ ซ้ำเติมผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลต่อแนวโน้มการปิดตัวธุรกิจ การเลิกจ้างและหนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้น
โดยหนึ่งในสถาบันวิจัยที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยติดลบเพิ่ม (ตารางประกอบ) "ธนาคารมิซูโฮ " บทวิเคราห์ระบุ คาดจีดีพีไทยปีนี้จะติดลบ 7.5% หดตัวเพิ่มจากลบ 6.3% จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสังคมไทยครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกและสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี ถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างยิ่งดูย่ำแย่มากขึ้นเป็นเท่าตัว และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็เป็นกลุ่มเดียวกับที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ ภาคธุรกิจเอกชนที่อ่อนแอลง และมีการลงทุนลดลง ใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยที่เคยเป็นหัวจักรใหญ่ในการสร้างรายได้เข้าประเทศและสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็กำลังบอบช้ำจากทั้งสองปัจจัยลบดังกล่าว
"สภาพัฒน์" ทบทวนเป้าจีดีพีใหม่ 16 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ดีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ ) จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 3/63 และ 9 เดือนแรกปีนี้ พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 63 และปี 64 ใหม่ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ ซึ่งคงเห็นภาพรวมเศรษฐกิจไทยชัดเจนขึ้นว่าเริ่มฟื้นหรือไม่ ขณะเดียวกันคงต้องรอลุ้น มาตรการเร่งด่วนระยะสั้นที่กระทรวงการคลังมุ่งเน้นทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และภาคประชาชน มาตรการรองรับการว่างงาน ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการบริโภค จากวงเงินพรก.เงินกู้ที่ยังเหลืออีกประมาณ 5 แสนล้านบาท