ธปท.จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงชี้ทิศเศรษฐกิจไทย

30 ต.ค. 2563 | 10:00 น.

ธปท.จับตา 5ปัจจัยเสี่ยงชี้ทิศเศรษฐกิจ หลังเห็นสัญญาณฟื้นตัวในเดือนก.ย.

 

นางสาวชญาวดีชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่าเศรษฐกิจในเดือนกันยายน ดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน แต่จะต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ใน 5 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 1.การเปิดรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ , 2.การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ, 3. การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน , 4. ความยั่งยืนของการฟื้นตัวภาคยานยนต์ และ 5. ความไม่แน่นอนทางการเมือง 

 

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบเป็นปกติในหลายภาคส่วน และอีกส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยรายจ่ายประจำไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัว 5.9%ตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการหลังจากหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนก่อน ขณะที่ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจมีรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้น 46.5%และ 9.2% ตามลำดับ 

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาทรงตัวที่ 0%จากเดือนสิงหาคมหดตัว 0.3%และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน โดยได้รับผลดีจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเมษายน และปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้นตามรายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคการเกษตร โดยในเดือนนี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัวน้อยลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ส่วนหนึ่งมีผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 4.2%จากระยะเดียวกันปีก่อนหดตัว 8.2% หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 3.7% ปรับดีขึ้นมากจากที่หดตัวถึง13.6% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะ3หมวดที่กลับมาฟื้นตัว อาทิเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ยานยนต์และชิ้นส่วนหดตัวน้อยลง

 

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม -2.8%หดตัวน้อยลงตามการผลิตที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ และมีผลของฐานต่ำในปีก่อนในหมวดการผลิตยานยนต์และปิโตรเลียมเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน -3.7%หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหดตัว 5.0% ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งทิศทางความเชื่อมั่นของ

 

ภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 8.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 6.7% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางปรับดีขึ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่6

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย 

 

ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ลดลงโดย ดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไป 1,000 คน ต่อเดือน แต่สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมยังอยู่ในระดับสูง 4.4แสนรายสำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนตามมูลค่าการส่งออกทองคำที่น้อยลงเป็นสำคัญ 

 

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษชดเชยวันสงกรานต์ และปัจจัยรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทยอยปรับดีขึ้น

 

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงเปราะบาง 

 

สำหรับ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเกินดุล 1.3  พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากเดือนก่อน 3.1พันล้านดอลลาร์ หลังหักทองคำเดือนกันยายนไทยเกินดุล 1.2  พันล้านดอลลาร์